‘ภูคราม’

10 ธ.ค. 2564 | 03:59 น.

แบรนด์ สตอรีส์ กฤษณ์ ศิรประภาศิริ [email protected]

COP26 เสร็จสิ้นการประชุมเพื่อลดโลกร้อน กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

“ผู้นำ” ทั่วโลกที่มาร่วมประชุมในเมือง GLASGLOW เมืองสำคัญของสหราชอาณาจักร เจ้าภาพในปีนี้ ต่างตกลงกันว่า จะลดการใช้พลังงาน FOSSIL FUELS ที่ก่อให้เกิดโลกร้อน (CLIMATE CHANGE) เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

สำหรับตัวผู้ร้ายสำคัญ “ถ่านหิน” (COAL) ข้อเสนอที่จะให้หยุดการใช้เลย เพราะเป็น “ตัวผู้ร้ายสำคัญ” จีน ประเทศที่พึ่งพา พลังงานจาก “ถ่านหิน” ไม่ยอมร่วมลงนาม เอาว่า “ขอลดการใช้” ก่อนน่าจะพอ

 

ตกลงกันได้ว่า จะปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” (GREENHOUSE GAS EMISSIONS) ลดลง 45 เปอร์เซนต์ ในปี ค.ศ. 2030

 

และจะ NET ZERO ในปี 2050 อีก 29 ปี

 

อีกประเด็นสำคัญคือ การตัดไม้ทำลายป่า (DEFORESTATION) ที่ประชุมตกลงกันว่า จะหยุดการทำลายป่าในปี ค.ศ. 2030 และจะร่วมกัน “พัฒนาอย่างยั่งยืน” SUSTAINABLE DEVELOPMENT

 

จะใช้ TRADE AND DEVELOPMENT POLICIES ไม่ว่า “สากล” (INTERNATIONAL) หรือ “ภายในประเทศ” (DOMESTIC) ที่สนับสนุน “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

 

จะใช้การผลิตสินค้าที่ยั่งยืน จะบริโภคอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ร่วมกันในประเทศต่างๆ ไม่มีการทำลายป่า DEFORESTATION ทำลายดิน LAND DEGRADATION สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ภูคราม

“ป่า” ช่วย “ดูดซับ” CARBON DIOXIDE ที่คนในโลกปล่อยมาประมาณ 30%

 

ประเทศใหญ่ๆที่เป็นเจ้าของผืนป่าอย่างเช่น BRAZIL RUSSIA INDONESIA และ DEMOCRATIC REPUBLIC OF THE CONGO รวมกันแล้ว มีพื้นที่ป่าถึง 85% ของพื้นที่ป่าโลก

 

“ผู้นำ” ของประเทศกลุ่มนี้ร่วมกันลงนามที่จะดูแลป่าไม้ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ไปถึงเป้าปี ค.ศ. 2030 ที่ “ป่าไม้” จะฟื้นตัวกลับคืนมาทำหน้าที่ช่วยโลกอย่างแข็งขันแข็งแรง เหมือนในอดีตที่โลกไม่ร้อนเพราะป่าไม้ไม่ถูกรังแก

 

มีเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่า ไม่ใช่พูดกันในที่ประชุมโลก COP26 CLIMATE CONFERENCE ที่เมือง GLASGLOW SCOTLAND เสร็จ กลับไป “ท่านผู้นำ” ก็ลืม ไม่ได้เห็น “มหันตภัย” ที่ใกล้เข้ามาทุกที

 

นายกรัฐมนตรี BORIS JOHNSON อุตส่าห์ประดิษฐ์คำคม ให้ทุกคนตระหนักถึงอันตราย หากเราละเลยต่อปัญหาโลกร้อน CLIMATE CHANGE

 

“ONE MINUTE TO MIDNIGHT” ท่านนายกสหราชอาณาจักร BORIS JOHNSON ฝากคำเตือนภัย “หนึ่งนาทีก่อนเที่ยงคืน ก่อนจะพบกับ “หายนะ” ครั้งยิ่งใหญ่

 

ปีนี้ทั่วโลกประสบภัยธรรมชาติอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น มากประเทศยิ่งขึ้น ไม่น่าจะมี “เวลา” ให้เพิกเฉยได้อีกต่อไป

 

ประเทศที่เจริญอย่างสหราชอาณาจักร นอกจากทำหน้าที่ “เจ้าภาพ” การประชุม COP26 ยังได้จัดกิจกรรมสัมพันธ์กับหัวข้อ “โลกร้อน” นี้ ตั้งแต่ BBC จัดประชุมเยาวชนทั้ง ON SITE, ON LINE เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ตั้งคำถาม (GLOBAL CLIMATE DEBATE) ได้แสดงความคิดเห็นในโลกที่พวกเขาจะต้องรับผิดชอบ หรือตกเป็น “เหยื่อ” จากการกระทำใช้ล้างผลาญ ด้วยสันดานเห็นแก่ตัว ทั้งเห็นแก่ตัว ทั้งโกง ฯลฯ ของผู้ใหญ่รุ่นนี้

 

อีก “กิจกรรม” ที่มีส่วนช่วยให้ “ผู้บริโภค” เราๆ ท่านๆ ได้ใช้ “สินค้า” ดี ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง (หรือไม่ทำลายเลย) BRITISH COUNCIL ร่วมกับ องค์กร FASHION REVOLUTION คัดเลือก BRAND FASHION จาก 9 ประเทศทั่วโลก ที่แสดง “ภูมิปัญญา” ท้องถิ่น ลดโลกร้อน

 

ปัญหาใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมของโลกขณะนี้คือ FAST FASHION ล่อให้เกิดการบริโภค “เสื้อผ้า” เกินความจำเป็นสร้าง “ขยะเสื้อผ้า” มากมาย นอกจากนี้กระบวนการผลิตสินค้าเหล่านี้ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ได้รักษ์โลกอย่างที่ควรจะเป็น เป็นที่น่ายินดีครับ สินค้าภูมิปัญญาชาวบ้านของเรา “ผ้าฟอกคราม” จากเทือกเขาภูพาน ติดอันดับ BRAND FASHION 1 ใน 9 ประเทศทั่วโลกในการจัดครั้งนี้

 

ภูคราม” เป็น BRAND จากบ้านนางเติ่ง เทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น พืชพันธุ์ธรรมชาติ ลายทิวทัศน์ ของเทือกเขาภูพาน เป็นเอกลักษณ์ ปักบนเสื้อผ้าฝ้ายย้อมคราม (INDIGO) ด้วย “ลาย” แต่ละตัวที่ไม่ซ้ำ ให้ช่างปักชาวบ้านสร้างจินตนาการเอง

 

ฝ้ายที่ปลูก ปลูกแบบ ORGANIC ปลูกคราม ทอผ้า ย้อมสี ด้วย “มือ” ชาวบ้านล้วนๆ

 

ปิลันธน์ ไทยสรวง เป็นเจ้าของสินค้า BRAND นี้ “ภูคราม” ใช้เวลาเพียง 6 ปี เริ่มสร้าง “สินค้า” ที่มี CONCEPT สินค้าที่ไม่ธรรมดา เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้รัก “ผ้าฝ้ายย้อมคราม”

 

ที่สำคัญ เธอไม่ได้พูดตาม “บท” ลดโลกร้อน ที่คนเขียนให้ เธอใช้ “สองมือ” สร้าง “สินค้า” ที่มี “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

 

เป็น BRAND ไทยๆ โดย “คนไทย” ที่เราควรภูมิใจ

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,738 วันที่ 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564