ข้าวตกต่ำ ต้องใช้หลากหลายวิธีแก้

12 พ.ย. 2564 | 07:44 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

สถานการณ์ราคาข้าวในประเทศตกต่ำลงอย่างหนัก จากหลากหลายปัจจัย ทั้งผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ ฝนฟ้าเอื้ออำนวย ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกภาคกลางแหล่งผลิตใหญ่ในหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเข้าสู่ตลาด เนื่องจากไม่มียุ้งฉางในการเก็บสต๊อก และภาวะเศรษฐกิจภาพรวมหดตัว เกษตรกรจำเป็นต้องขายข้าวออกมาเพื่อนำรายได้ไปใช้จ่าย เป็นอีกปัจจัยที่กดทับซ้ำเติมให้ราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรลง
 

ประกอบกับตลาดรีรอในการลงออร์เดอร์คำสั่งซื้อ โดยหลายประเทศผู้ซื้อกำลังเร่งสำรวจผลผลิตภายในประเทศ เพื่อประเมินความต้องการและจากการที่ผลผลิตออกมาเพิ่มขึ้น การส่งคำสั่งซื้อจึงมีทิศทางเป็นขาลงในระยะสั้นที่ผลผลผิตออกสู่ตลาด และปัจจัยเรือขนส่งที่จำนวนลดลงและค่าระวางเรือสูงขึ้นอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาตลาดโลกลดลง สะท้อนกดทับราคาภายในประเทศ

วงจรการผลิตข้าวตั้งแต่การผลิตถึงตลาดข้าวโลก มักจะเกิดปัญหาซ้ำๆ ในช่วงต้นฤดูการผลิตที่ปริมาณผลผลิตออกมามาก ราคาตลาดจะอ่อนตัวตามทิศทางผลผลิต ขณะที่ปัจจัยน้ำท่วม ฝนแล้ง ก็จะเป็นวงจรประจำอย่าง 2-3 ปีครั้ง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ โลกร้อน เอลนีโญ ลานีญา น้ำท่วมกระจุก น้ำแล้งกระจาย การบริหารจัดการน้ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลไม่อาจมองข้าวในการแก้ปัญหาวิกฤติราคาสินค้าเกษตร
 

รัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าว พืชเกษตรหลายรายการ ด้วยวิธีการประกันรายได้เกษตรกร โดยกำหนดจ่ายส่วนต่างที่ขายได้ต่ำกว่าราคาตลาดให้เกษตรกรโดยตรง แต่สินค้าต้องเป็นไปตามมาตรฐาน โดยสินค้าข้าวเปลือกมีมาตรฐานความชื้นที่ไม่เกิน 15% หากความชื้นเกินจากนี้ต้องหักราคาลงไปตามความชื้นเป็นขั้นเปอร์เซนต์ลงไป ส่งผลให้เกษตรกรได้รับราคาส่วนต่างไม่เต็มที่ อันเนื่องมาจากช่วงน้ำท่วมฝนตกชุก ผลผลิตมีความชื้นสูง

อย่างไรก็ดี เราเห็นว่าการแก้ปัญหาราคาข้าวไม่ควรยึดติดอยู่กับวิธีเดียวในการแก้ปัญหา โดยต้องผสมผสานหลากหลายวิธีการเข้าด้วยกัน การแทรกแซงด้วยการประกันรายได้ เป็นวิธีการหรือนโยบายหนึ่งเท่านั้น แต่รัฐบาลควรต้องบริหารจัดการน้ำ น้ำท่วม น้ำแล้งให้สัมฤทธิผล 


รวมทั้งหาทางในพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเป็นพันธุ์พิเศษ หรือ พันธุ์จำเพาะตลาด ลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรในปัจจัยการผลิตต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพการขัดสี รวมทั้งช่วยเอกชนในการหาตลาดใหม่ๆ หรือหาแนวทางบริหารตลาดข้าว เพิ่มสิทธิประโยชน์มาตรการจูงใจหรือกำกับเอกชนผู้ส่งออกมากขึ้น เพื่อผลักดันผลผลิตส่วนเกินที่กดทับราคาออกไป ช่วยยกระดับราคาภายในประเทศให้สูงขึ้น