ฟื้นฟู“น้ำท่วม” อย่าหยุดแค่“เยียวยา”

24 ต.ค. 2564 | 05:54 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงภัยน้ำท่วม เนื่องจากยังมีพายุลูกใหม่ หม่าเลา เริ่มมีการก่อตัวในทะเลจีนใต้ ที่คาดจะขึ้นฝั่งเวียดนามตอนใต้ปลายเดือนต.ค.นี้ ที่อาจสร้างความเสียหายจากภัยน้ำท่วมที่ยังเดือดร้อนอยู่หลายสิบจังหวัด โดยเฉพาะในที่ลุ่มภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง-ใต้ 
 

ภาวะฝนตกชุกจากพายุ 6 ลูกที่เข้าต่อเนื่องตั้งแต่เดือนก.ย.2564 ทำให้น้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัดส่งผลกระทบต่อประชากร 5% ของประชากร 69.8 ล้านคน พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 6.5% ของพื้นที่การเกษตรในประเทศ เฉพาะผลผลิตข้าวจะเสียหาย 30% ของข้าวที่ปลูกในพื้นที่น้ำท่วม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาด จีดีพีภาคเกษตรปี 2564 ลดลง 4,190-5,730 ล้านบาท หรือลดลง 0.2-0.5% ไม่รวมความเสียหายด้านทรัพย์สินอื่น

ด้านสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมปีนี้ ที่กระทบ  31 จังหวัด 190 อำเภอ 956 ตำบล 6,335 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 227,470 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย พื้นที่เสียหายส่วนใหญ่คิดเป็น 65.9% พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร รองลงมาเป็นเขตพื้เศรษฐกิจหัวเมือง  22.0% และ 12.1% ได้รับผลกระทบทั้งสองพื้นที่ ประเมินความเสียหายทั้งหมด 15,036.11 ล้านบาท ผลกระทบต่อจีดีพี ที่ 0.1- 0.2% 
 

ผลกระทบจากน้ำท่วมปีนี้แม้ไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แต่ครั้งนี้เกิดซ้อนวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ที่ฉุดเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกให้ถดถอยครั้งใหญ่ นอกจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 แล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมเยียวยาภัยน้ำท่วม ซึ่งต้องเร่งช่วยเหลือชดเชยน้ำท่วม และสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ กลับมาดำเนินการได้ต่อ 

ทั้งนี้ ความเสียหายทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรกร หรือความเสียหายในทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงเกษตรฯและมหาดไทย มีกลไกการชดเชยความเสียหายไว้รองรับอยู่แล้ว โดยกำชับเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหาย และสรุปข้อมูลเพื่อจ่ายเงินเยียวยาโดยเร็วภายใน 2 เดือนหลังน้ำลด รวมทั้งให้บริหารให้มีน้ำไว้ใช้ทางการเกษตรในช่วงหน้าแล้งด้วย 
 

การชดเชยน้ำท่วมผู้ประสบภัยครั้งนี้ต้องไม่หยุดเพียงแค่เยียวยาความเสียหาย แต่ควรต้องวางเป้าหมายไกลไปถึงการฟื้นฟูอาชีพรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ประสบภัย กระทรวงเกษตรฯต้องเตรียมแผนสนับสนุนการปลูกพืชระยะสั้นหลังน้ำท่วม เพื่อเป็นรายได้ชดเชยความเสียหายของพืชผลจากน้ำท่วม โดยให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด 
 

อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้ผู้บริหารชุดใหม่ครบถ้วนแล้ว ต้องเป็นกลไกหลักในการดูแลประชากรในเขตพื้นที่ของตนเอง โดยกระทรวงมหาดไทยควรปลดล็อกคลายระเบียบ ให้อปท.สามารถนำเงินสะสมของท้องถิ่น ที่มีอยู่ 150,954.34 ล้านบาท มาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม โดยอาจวางกรอบการใช้เงินไว้เป็นแนวทาง เช่น เพื่อการสร้างงานให้หมุนเวียนในพื้นที่ สร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจชุมชน 
 

เป็นการเพิ่มบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) นอกจากดูแลบริการด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการในพื้นที่แล้ว ควรเติมน้ำหนักภารกิจด้านการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในเขตรับผิดชอบให้แข็งแรงมั่นคงดียิ่งขึ้น เป็นการสร้างประชาธิปไตยที่ฐานรากที่แท้จริง