‘ขอสักเข็ม’

22 ก.ค. 2564 | 00:31 น.

แบรนด์ สตอรีส์   กฤษณ์  ศิรประภาศิริ [email protected]

จะเรียก “วัคซีนพันธุ์ผสม” “สลับวัคซีน” หรือ “พันธุ์ต้มยำ” ฯลฯ

 

“ชื่อนั้นสำคัญไฉน”

 

ทั้งสิ้นหมายถึง การฉีดวัคซีน “เข็ม 2” “เข็ม 3” ต่าง “ยี่ห้อ” ต่าง “ชนิด” กับ “วัคซีนเข็มแรก” ที่คุณได้รับการฉีดต้านโควิด-19 ไปแล้ว

 

ในกรณี “เข็ม 3” ถือเป็น “เข็มกระตุ้น” เมื่อค้นพบว่า “2 เข็มแรก” ที่คุณฉีดไปแล้ว (ยกตัวอย่าง SV) ให้ “ภูมิต้านทาน” ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเจอไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จำเป็นต้อง BOOST ด้วย “วัคซีนเข็ม 3”

 

เห็นว่าจะเน้นใช้ “ASTRA” เป็น ตัววัคซีน “กระตุ้น” หลัก เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน เชื้อกลายพันธุ์

 

“เข็ม 3” BOOSTER DOSE คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของไทยเห็นชอบให้เร่งฉีดให้ “ด่านหน้า” นักรบเสื้อกาวน์ บุคลากรทางการแพทย์ผู้เสียสละทำงานเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด ในภาวะวิกฤติรุนแรงขณะนี้ (และก่อนหน้านี้ และอนาคตอีกยาวไกลที่ต้องต่อสู้)

 

บุคลากรผู้มีคุณค่า ผู้เสียสละเหล่านี้ แม้จะเป็นแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลใหญ่ ทันสมัยของรัฐ ส่วนใหญ่ได้รับ SV 2 เข็มในช่วงแรกๆ เพราะไม่มีทางเลือก ด้วยวัคซีนขณะนั้น รัฐไทยสนับสนุน SV วัคซีนจีนและวาทะคมคายของแพทย์ใหญ่น่าเชื่อถือ ที่ออกมาสนับสนุนด้วยคำปลอบประโลมที่ว่า

‘ขอสักเข็ม’

“วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่อยู่ในตัวคุณ”

 

มาบัดนี้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า “ด่านหน้า” เหล่านี้ ที่เคยได้รับ SV วัคซีนจีนที่ทำจาก “เชื้อตาย” ไปแล้ว 2 เข็ม ต้องรีบมารับ “วัคซีนเข็ม 3” วัคซีนต่างยี่ห้อ ต่างชนิด เทคโนโลยีการผลิต เป็น “วัคซีนไวรัส VECTOR” (“ด่านหน้า” กล้าตาย กล้าหาญ เป็น “หนูทดลอง” อีกครั้ง)

 

ผลดี ความปลอดภัยของการ “ผสมพันธุ์วัคซีน” นี้ ได้รับการรับรองจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยไวรัส โรงพยาบาลจุฬา นักวิจัยอาวุโสที่อยู่ในสนามการวิจัยมากว่า 30 ปี

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ออกมาสำทับ

 

“การศึกษาเรื่องนี้ ฝรั่งไม่ทันเราแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ใช้ “วัคซีนเชื้อตาย” (ของจีน) และจีนเองก็ไม่ได้ใช้ “วัคซีนไวรัส VECTOR” (ของฝรั่ง)”

 

“ข้อดี” ของการผสมฉีดวัคซีนต่าง “ยี่ห้อ” ต่าง “ชนิด” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ยังอ้างถึง “ข้อ” ที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไทย ยอมรับ นั่นคือ

 

“ภูมิต้านทาน” จะสูงขึ้นมากในเวลาอันรวดเร็ว (ด้วย)

 

และเป็นการปรับใช้ “ทรัพยากร” ที่เรามีอยู่ขณะนี้ที่ จำกัด ให้ได้ ประโยชน์สูงสุด

 

สธ. มองว่า “วัคซีน” หายาก ยังมีจำกัด (ที่ผ่านมาก็ยังไปฉีดให้ “กลุ่มไร้สาระ”)

 

ที่น่าสนใจ สาธารณสุขไทย มอง “วัคซีน” เป็น “ทรัพยากร” และจะใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด (ภาวนาขอให้เป็นจริง)

 

“วัคซีน” ว่าหายากแล้ว แต่ “ทรัพยากร” ที่แท้จริง ที่เราควรเอาใจใส่ให้มาก น่าจะเป็น กลุ่มแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่กล้าหาญ เสียสละ ไม่ทิ้ง สมรภูมิระบาด

 

และไม่ใช่เฉพาะ “นักรบเสื้อกาวน์” “ด่านหน้า” ที่ออกมาผจญภัยรับหน้า ผู้สงสัยว่าจะป่วยและผู้ติดโควิด-19ในโรงพยาบาล ยังมีแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในแผนกโรคอื่นๆ ที่ต้องการความรวดเร็ว ความเอาใจใส่ในการดูแลรักษา เช่นกัน เช่น คนไข้โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรงมะเร็ง ฯลฯ

 

แพทย์-พยาบาล เจ้าหน้าที่ในแผนโรคอื่นๆ ขณะนี้ก็เสี่ยงภัยมาทำงานในสถานการณ์ระบาดรุนแรง

 

ทั้งสิ้นแล้ว แพทย์พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ของไทย เราขณะนี้มีความกล้าหาญ เสียสละ ไม่ต่างกับบุคลากรในโรงพยาบาลต่างประเทศ ซึ่งแม้ในยาม “สงครามโลก” ระเบิดลง

 

โรงพยาบาลก็ไม่ปิด

 

แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ยังคงทำงานเป็นปกติ ท่ามกลาง “ห่า” ระเบิด ห่ากระสุน ตอนนี้ของเราเจอ “ห่าโควิด” ซึ่งใกล้ตัวกว่ามาก

 

วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ เราคงเห็น “คุณค่า” สถาบันการแพทย์-สาธารณสุขไทย ที่ผลิต “ทรัพยากร” มีค่าให้กับสังคมไทย

 

สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับ “วัคซีน” มาก่อนเลย ตอนนี้ก็ได้รับสูตรผสมใหม่

 

เข็ม 1-SV

 

เข็ม 2-ASTRA

 

ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับ SV คงทำให้เกิดการเกี่ยงกับการฉีดเข็ม 1 ในเมื่อ ASTRA ดีกว่า ทำไมไม่ฉีดไปเลย 2 เข็ม

 

สาธารณสุขไทยคงต้องเคลียร์ความข้องใจให้กับประชาชนที่ทางการต้องการให้ฉีดวัคซีนมากๆ เพื่อ HERD IMMUNITY เกิด “ภูมิต้านทานหมู่” คนไม่ติดมาก ส่วนบุคคลได้วัคซีนไปแล้ว ถึงติดก็ยังปลอดภัย ไม่รุนแรง

‘ขอสักเข็ม’

แต่ตัวเลขที่ว่าจะเกิด HERD IMMUNITY หมู่ได้ ต้องฉีดกัน 50-90% ของประชากร

 

ตอนนี้ เรายังไปไม่ถึงไหนเลย เดือนที่แล้วไปจังหวัดใหญ่ในอีสาน ขนาด “ขอนแก่น” เมืองหลวงแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

สาวๆ พนักงานเอกชนเข้ามาฟ้อง พวกหนูยอมเสียเงินกับโรงพยาบาลเอกชน ตอนแรกว่าจะได้เดือนนี้ ตอนนี้ว่าเลื่อนไปไม่มีกำหนด (สงสัย หมอบุญ หมดปัญญา)

 

ติดต่อ “หมอพร้อม” ก็ไม่ได้ เหมือนว่าจะปิดกิจการไปแล้ว สำหรับคนต่างจังหวัด

 

“ขอเข็มแรก เปิดบริสุทธิ์สักเข็ม ยังไม่ได้ ป่วยการจะพูดเรื่องการผสมพันธุ์เข็มสอง”

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,698 วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564