ข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่

25 ก.ย. 2564 | 05:49 น.

ข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิด ก็หลักสี่(.ศูนย์) โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,717 หน้า 5 วันที่ 26 - 29 กันยายน 2564

เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันดีว่า การก่ออาชญากรรมที่เกี่ยว ข้องกับการ ฟอกเงินมีความซับซ้อนขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว และก็เป็นที่แน่นอนว่า ภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแลการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินก็จะต้องสร้างเครื่องมือหรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่จะสามารถจัดการกับปัญหาอาชญากรรมการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งนั่นอาจจะเป็นการมองในมุมหรือบทบาทของผู้ที่ต้องการใช้กฎหมายเพื่อให้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หากแต่ยังมีอีกหลายมุมมองที่ภาครัฐควรจะต้องพิจารณาประกอบกันไปเพื่อให้การตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายนั้นมีคุณค่า (Value) สูงสุดและรักษานํ้าหนักของแต่ละมุมมองให้ถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสม

เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการฟอกเงินเดิมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องกับรูปแบบการฟอกเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งปปง. อ้างว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่เป็นหลักประกันตามรัฐธรรมนูญก็เป็นไปเพื่อลดความเสี่ยงจากอาชญากรรมร้ายแรงที่เป็นภัยคุกคามอันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ แต่ก็มิได้มีการเปรียบเทียบความคุ้มได้คุ้มเสียระหว่างสิทธิเสรีภาพที่สูญเสียไปกับความปลอดภัยที่มากขึ้นว่าสิ่งใดจะมากกว่ากัน แต่ประเด็นสำคัญหรือไฮไลท์ของร่างกฎหมายฉบับนี้กลับเป็นการเหวี่ยงแหไปยังกลุ่มคนต่างๆ และอำนาจที่ครอบจักรวาลจากความคลุมเครือของตัวบทและการใช้วิจารณญาณของเจ้าพนักงาน

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือว่า มีความน่าสนใจในเชิงของการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ(Public Policy Analysis) อย่างมาก โดยเฉพาะการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาทางเลือก (Selecting the Criteria) การพยากรณ์ผลลัพธ์ (Projecting the Outcomes) และการเผชิญหน้ากับการได้อย่างเสียอย่าง (Confronting the Trade-offs) เนื่องด้วยรายละเอียดของการกำหนดความผิดมูลฐานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้มีขอบเขตที่กว้างมากและแน่นอนต้นทุนจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายต้นทุนสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยและต้นทุนทางธุรกรรมต่างๆ ที่จะเกื้อหนุนจุนเจือให้กฎหมายนี้บรรลุผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องมีใครสักคนที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเป็นแน่

หากลองดูการแก้ไขมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่มีทั้งการแก้ไขเนื้อหาสาระเดิมทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้นแล้ว ร่างฉบับใหม่ยังเพิ่มเติมหรือขยายอำนาจของปปง. ให้กว้างไกลกว่าเดิมเสียอีก ซึ่งไปไกลถึงความผิดที่ว่าด้วยฉ้อโกง ยักยอก หรือแม้แต่ตกแต่งบัญชีที่ผิดกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน มิเพียงเท่านั้น ปปง. ยังรวมเอาการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและการฮั้วประมูลงานราชการมาเป็นความผิดมูลฐานอีกด้วย เอาเป็นว่า ปปง. คือ ผู้ถือดาบสุดท้ายที่จะลงทัณฑ์ผู้กระทำความผิดนอกเหนือไปจากโทษทางอาญาแล้ว หรือกล่าวได้ว่า ติดคุกแล้วยังถูกยึดทรัพย์อีก 

 

แต่ใช่ว่า การให้อำนาจกับรัฐในการป้องกันและปราบปรามอาชญา กรรมจะให้ผลเลิศเสมอไป ถ้าหยิบยกแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมมาเป็นตัวตั้งแล้ว การขยายขอบ เขตอำนาจการปกครองของรัฐย่อมลดทอนอำนาจแห่งปัจเจกชนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ แนวคิดทางการเมืองที่มุ่งเน้นเสรีภาพต้องการจำกัดขอบเขตอำนาจการปกครองของรัฐเท่าที่รัฐพึงมีและเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายของกำเนิดขึ้นของรัฐ มิควรลืมเสียว่า อำนาจรัฐที่มากขึ้นจะบั่นทอนประสิทธิภาพของตลาดและก่อให้เกิดต้นทุนการกำกับดูแล (Regulatory Cost) ที่ไม่จำเป็นในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย นอกจากนี้ ความผิดมูลฐานบางประเภทยังหมิ่นเหม่ที่จะขัดกับหลักความได้สัดส่วน (The Principle of Proportionality) ซึ่งหมายความถึง ความผิดบางประเภทนั้นสมควรที่จะต้องถูกยึดทรัพย์ด้วยเหตุความผิดแห่งการฟอกเงินด้วยกระนั้นหรือ

 

ข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่

 

 

ประเด็นถัดมาที่ปรากฏใน ร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับแก้ไข ได้แก่การขยายขอบเขตของนิยาม “ผู้ประกอบอาชีพ” ซึ่งร่างนี้ได้รวมเอาทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ทำบัญชีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และทิ้งท้ายปลายเปิดด้วยอาชีพอื่นที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การกำหนดผู้ประกอบอาชีพภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้ดึงดูดความสนใจของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอย่างมากโดยเฉพาะนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตซึ่งเป็นนิติบุคคลและมีหน้าที่ตามกฎหมายโดยให้รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามมาตรา 16 และมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 20/1 ดังต่อไปนี้

1. จัดให้ลูกค้าแสดงตน ระบุตัวตนและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า

2. บริหารความเสี่ยงด้านการฟอกเงินการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของลูกค้า 

3. ติดตามความเคลื่อนไหวของการทำธุรกรรมของลูกค้า 

4. กำหนดนโยบายและมาตรการควบคุมภายในขององค์กร สาขาและบริษัทในเครือให้เหมาะสมกับความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและขนาดของธุรกิจ

มิเพียงเท่านั้น มาตรา 21 ยังให้ผู้มีหน้าที่รายงานบันทึกข้อเท็จจริงต่างๆ ตามที่กำหนดด้วย ขณะที่มาตรา 21/1 ก็กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานต้องรักษาความลับมิให้แพร่งพราย และมาตรา 22 ก็กำหนดให้จัดเก็บข้อมูลธุรกรรมตามมาตรา 21 ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ถ้าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ทำก็จะถือว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งจะต้องได้รับโทษปรับหรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่ศาลท่านจะเมตตา สรุปง่ายๆ ว่า งานนี้นักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แถมยังเอากระดูกมาแขวนคอเสียอีก

ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับร่างกฎหมายการฟอกเงินฉบับล่าสุดมีมากเหลือที่จะนับ แต่เห็นจะมีเพียงสามข้อที่จะขอยกมาอธิบายไว้ ณ ที่นี้ซึ่งได้แก่ หนึ่ง การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่การลดลงของอาชญากรรมการฟอกเงินดังที่คาดหวังไว้หรือไม่ สอง การบังคับใช้กฎหมายจะนำไปสู่ต้นทุนของระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้นึกถึงมากน้อยเท่าใด และ สาม ร่างกฎหมายที่เห็นทุกวันนี้ได้ถามคนที่เกี่ยวข้องเขาหรือยังว่าเขาคิดเห็นกันเป็นประการใด

ประการแรก สาธารณชนไม่เคยรับทราบและรับรู้ว่า การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้วมีผลอย่างไร อาชญากรรมที่เป็นความผิดมูลฐานลดลงหรือไม่  ซึ่งในฐานะประชาชนก็เพียงแต่ต้อง การให้รัฐบาลทำให้มันหมดไป แต่รัฐบาลกลับล้มเหลวในการปฏิบัติภารกิจและเดินมาขออำนาจเพิ่มเพื่อจะไปปฏิบัติภารกิจเดิมที่ตนเองทำไม่เคยสำเร็จ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ดี รบกวนปปง.ช่วยแถลงไขเสียทีเถิด

ประการที่สอง การกำหนดผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อเขาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตนต้องการมิใช่เขาว่าเขามิได้เก็บเงินท่านแล้วเขาจะไม่เสียสตางค์นะ แม้เขาจะทำให้ท่านฟรี แต่เขาก็ต้องควักเงินในกระเป๋าของเขามาจ่าย แทนที่ทรัพยากรทางการเงินก้อนนี้จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แต่ท่านกลับไปดึงเอาเงินที่ใช้สร้างความเจริญของชาติมาสนองภารกิจตนเองแบบไม่ถามคนจ่ายเงิน ก็ไม่น่าจะถูกนะท่าน

ประการสุดท้าย ทั้งนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่างทำสีหน้างงงวยหลังจากเห็นร่างกฎหมายที่ท่านเผยแพร่ เพราะพวกเขาไม่เคยแสดงความเห็นอย่างเป็นทางการเลย ท่านจะใช้งานเขา จะใช้เงินเขา และถ้าเขาไม่ทำ ท่านก็จะโบยเขา อย่างน้อยก็ฟังเขาก่อนจะดีไหม

นี่ก็ล่วงเข้าการปฏิวัติอุตสาห กรรมยุคที่สี่แล้ว ทำไมกระบวนการใช้อำนาจรัฐกลับเหมือนสมัยร้อยปีที่ แล้วไปเสียนี่ น่าแปลกใจ!