จัดหาวัคซีน อย่าฝืนความรู้สึกของประชาชน

16 ก.ค. 2564 | 09:34 น.

จัดหาวัคซีน อย่าฝืนความรู้สึกของประชาชน : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3697 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-21 ก.ค.2564

     เวลานี้คงพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เข้าสู่ระลอกที่ 4 แล้ว ด้วยยอดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันใกล้เข้าสู่หลักหมื่นคน จากระลอกที่ 3 ที่มีการติดเชื้ออยูในระดับ 2-3 พันคนต่อวัน

     นั่นก็ด้วยสาหตุของการกลายพันธ์ของไวรัสพันธุ์ใหม่อย่างเดลตาหรือสายพันธุ์อินเดีย ที่มีความรุนแรง ติดเชื้อได้เร็วและแพร่กระจายได้รวดเร็ว

     ในขณะที่การฉีดวัคซีนรวมกันทั้ง 2 เข็มทั้ง ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า ถึงวันนี้เอง ยังไม่ถึง 14 ล้านโดส เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศราว 66 ล้านคน และยังพบว่า มีผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวดครบ 2 เข็มแล้ว โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าติดเชื้อไวรัสโควิดอีกด้วย จึงมีปรากฏการณ์ที่บุคลากรทางการแพทย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงอย่าง “mRNA” เพื่อมารับมือกับเชื้อกลายพันธุ์

     ขณะเดียวกันคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีบรรดาคุณหมอร่วมเป็นคณะกรรมการ ออกมาตอกย้ำถึงประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนซิโนแวค ในทำนองที่ว่ามีประสิทธิภาพต่ำ จึงให้ปรับสูตรการฉีดวัคซีนใหม่ โดยให้เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็น แอสตร้าเซนเนก้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา

     แต่ถูกนายกรัฐมนตรี สั่งเบรกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ เพราะการสลับฉีดวัคซีนยังไม่มีผลการศึกษารองรับ และองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ออกมามาเตือนถึงอันตรายที่เกิดขึ้น และหากดำเนินการจะทำให้กระทบต่อแผนการนำเข้าวัคซีน

     ข้อมูลประสิทธิภาพที่ต่ำของวัคซีนซิโนแวค ที่ออกมาในแต่ละวัน ก็สร้างความกังวลให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มไปแล้ว ปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้เห็นภาพชัด ที่ทุกคนอยากจะรอดจากการติดเชื้อ คือการเข้าไปจองวัคซีน “mRNA” อย่าง ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ตามโรงพยาบาลรัฐและเอกชนกันอย่างล้นหลาม เปิดให้จองที่ไหนก็เต็มโควตาอย่างรวดเร็ว

     ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรก ประชาชนไม่มีความมั่นใจว่า จะได้รับการจัดสรรฉีดวัคซีนตามแผนของรัฐบาลได้เมื่อใด เพราะแผนการจัดหาวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เมื่อมีทางเลือกแม้จะต้องจ่ายเงินในการฉีดก็ต้องคว้าเอาไว้ก่อน ประการที่ 2 เพราะไม่มั่นใจวัคซีนซิโนแวคที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วจะมีประสิทธิภาพพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ อยากจะได้วัคซีนเข็มที่ 3 มาฉีดเป็นบูสเตอร์ สร้างภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น 

     สวนทางกับแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ที่ยังให้ความสำคัญกับซิโนแวคอยู่ ที่ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 อนุมัติวงเงิน 6.11 พันล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน ในการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 10.9 ล้านโดส ทำให้เป็นที่จับตาว่า รัฐบาลกำลังจะฝืนความรู้สึกของประชาชนในการสั่งนำเข้าวัคซีนประสิทธิภาพต่ำมาใช้ มีประชาชนเข้าชื่อแสดงความเห็นให้ฟ้องรัฐบาลกว่า 6.5 แสนชื่อ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องหยิบยกเรื่องนำเข้าวัคซีนขึ้นมาพิจารณาใหม่

​​​​​​