“เกษตรอินทรีย์ไทย”ต้องรื้อใหม่ใน 9 เรื่อง

30 มิ.ย. 2564 | 08:35 น.

สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นอีกหนึ่ง "โอกาสมหาศาล” ของเกษตรกรไทยในตลาดโลก เพราะความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงและก็เพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตได้

 

“เกษตรอินทรีย์ไทย”ต้องรื้อใหม่ใน 9 เรื่อง

แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคในตลาดโลก “ยอมรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ และยอมจ่ายแพงขึ้น” (ราคานมวัวออร์แกนิคสูงกว่าราคานมทั่วไป 20-40%, Ein Herz fuer Bio, 2013)

สำหรับ “ความต้องการ (Demand Side) สินค้าเกษตรอินทรีย์” จากบทความของ“Oleg Bazaluk และ คณะ (26 August 2020) เรื่อง Dynamic Development of the Global Organic Food Market and Opportunities for Ukrain” ยืนยันตัวเลขการผลิตและความต้องการได้ชัดเจนว่าความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 400% ในขณะที่การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 300% (ช่วงปี 2000-2017) และจากการสำรวจของ  “FiBL-AMI survey 2020” พบว่าอเมริกาเหนือสัดส่วน 45% นำโดยสหรัฐฯ เป็นตลาดเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุด ตามด้วยตลาดยุโรปสัดส่วน 43% โดยมีเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ เป็นตลาดใหญ่ในยุโรป ส่วนตลาดเดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์และสวีเดน เป็นตลาดที่มีคนบริโภคมากที่สุดของยุโรป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ออแกนิค รวมไปถึงกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม)

 ปี 2020 ขนาดตลาดอาหารและเกษตรอินทรีย์ในยุโรปอยู่ที่ 15 พันล้านยูโร มีช่องทางในการขายอาหารและเกษตรอินทรีย์มีด้วยกัน 3 ช่องทางใหญ่ ๆ คือ “ห้างสรรพสินค้า” สัดส่วน  60% และมีอัตราการขยายตัวระหว่างปี 2015-2020 เพิ่มขึ้นปีละ 15-20% รองลงมาเป็นช่องทางการขายใน “ห้างอาหารธรรมชาติ” สัดส่วน 25% ตามด้วยที่เหลือขายในร้านค้าผักและผลไม้ ตลาดเกษตรกร ร้านอาหารสุขภาพ ร้านเกษตรกร และขายในออนไลน์

“เกษตรอินทรีย์ไทย”ต้องรื้อใหม่ใน 9 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม ห้างสรรพสินค้าราคาถูก เริ่มปรับนโยบายให้มีสินค้าเกษตรออร์แกนิคเข้ามาขายมากขึ้น เช่น กรณี “ห้าง ALDI” ที่เป็นห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต “ราคาถูก” ของเยอรมันตั้งมา 75 ปีแล้ว มีสาขามากกว่า 10,000 แห่งใน 20 ประเทศ ปี 2018 มีรายได้ 2.8 ล้านล้านบาท (Wikipedia) มีสินค้าหลากหลายให้เลือก” เช่น อาหารเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล้า และเบียร์

ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป  ห้าง ALDI “จะไม่ขายเนื้อสัตว์ราคาถูก ๆ อีกต่อไป” แต่จะไปเน้น “เนื้อสัตว์ออแกนิคและคุณภาพดี” ด้วยเหตุผลที่ให้ความสำคัญกับ “สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)” และความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภค สิ่งที่ห้าง ALDI กำลังจะทำสะท้อนว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมในตลาดเยอรมันและยุโรป (ที่มา : สรุปจาก Bild.de (bile Zeitung), Deutschland)

ในขณะที่ออสเตรียมี “สมาคม Bio Austria” ที่มีสมาชิก 13,500 รายและร่วมกับสหกรณ์และพันธมิตร 360 แห่ง พนักงาน 100 มีสำนักงานอยู่ในเวียนนา (Wien) และลินซ์ (Linz) Bio Austria เป็นตัวแทน 60% ของเกษตรกรอินทรีย์จากจำนวน 21,000 รายของออสเตรีย โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวมประมาณ 300 ล้านยูโร เป็นสมาคมเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปและเป็นสมาชิกของ IFOAM มีการตั้งบริษัท “The bio Austria Marketing GmbH” โดยสมาคม Bio Austria ที่ถือหุ้น 100% และห้าง Hofer ของออสเตรียใช้สโลแกน “Zurueck zum Ursprung” (กลับไปสู่จุดเริ่มต้น)

นอกจากนี้สวิสเซอร์แลนด์ยังมีร้าน “Coop” ที่ขายสินค้าออร์แกนิคเช่นกัน สำหรับ “การผลิต (Supply Side) เกษตรอินทรีย์” รายงานของ FiBL และ IFOAM (2020) พบว่าปี 2018 จีนและอินเดียเป็นประเทศเอเชียที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากเป็นดับหนึ่งและสองตามลำดับ เพราะรัฐบาลสนับสนุนโดยร่วมมือกับ IFOAM ทำให้มีสำนักงาน IFOAM อยู่ใน 3 ประเทศคือจีน อินเดียและเกาหลีใต้ รวมทั้งจีนได้ผลกระทบจาก "นโยบาย BRI" ที่มีการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าปลอมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องหันมาพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของตนเอง)

“เกษตรอินทรีย์ไทย”ต้องรื้อใหม่ใน 9 เรื่อง

นอกจากจีนและอินเดียมีขยายพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์มากแล้ว ยังมี 3 ประเทศอาเซียนคือ อินโดนีเซีย (มีนโยบาย 1,000 ตำบลเกษตรอินทรีย์) เวียดนาม และฟิลิปฟินส์ (มีสำนักงาน IFOAM) ในขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 4 ของอาเซียน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับพื้นที่ของการทำการเกษตรทั้งหมดหรือก็คือสัดส่วนพื้นที่อินทรีย์ต่อพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดพบว่า ติมอร์ เลสเต (Timor-Leste) ศรีลังกา เวียดนามและฟิลิปฟินส์ คือ 4 ประเทศที่มีสัดส่วนสูงสุดของเอเซียน โดยมีมะพร้าว ชา กาแฟ และผลไม้คือกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ 

 

“เกษตรอินทรีย์ไทย”ต้องรื้อใหม่ใน 9 เรื่อง

“ทำไมเกษตรอินทรีย์ไทยยังไปไม่ไกล” ผมได้นั่งคุยกับ “คุณปาริชาติ ทองบัวร่วง ที่ปรึกษาเกษตรอินทรีย์” ได้ข้อสรุปว่าต้องทำ “9 รื้อ” ดังนี้ 1.ผู้บริโภคไม่มั่นใจในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย ว่าหากต้องจ่ายแพงแล้ว คุณภาพมาตรฐานสมราคาหรือไม่ ต้องสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น

2.สร้างการยอมรับในระดับสากล การทำเกษตรอินทรีย์ของไทยออกเป็น 3 ระดับ 1.เกษตรอินทรีย์โดยตนเอง สร้างมาตรฐานเอง 2.เกษตรอินทรีย์โดยชุมชนเกษตรกรที่รับรองกันเอง และ 3. อินทรีย์ประเทศไทย (Organic Thailand) ทั้งสามประเภทที่เรามีอยู่ขณะนี้ในตลาดพรีเมี่ยมอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยุโรป “ไม่ยอมรับ” และทำให้เกษตรกรไทยจึงต้องเสียเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานออร์แคนิกสากล เช่น IFoam และ USDA Organic เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อต้องการขายให้ได้ในตลาดโลก

 3.ผู้ผลิตออร์แกนิค กับ ผู้บริโภคต้องทำงานร่วมกัน ผู้ผลิตไม่ใช่แต่ทำหน้าที่เพื่อผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ แต่ผู้ผลิตต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับรายอื่น ๆ ที่ต้องการทำเกษตรอินทรีย์ มีการจัดอบรมสัมมนา และวิจัย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับผู้บริโภคที่ต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร การวิจัย สนับสนุนการแสดงสินค้า

4.ขาดความรู้ ต้องมีทีมที่ปรึกษาเกษตรอินทรีย์ที่มีความรู้และประสบการณ์จริง ในการให้การอบรมองค์ความรู้ และกระบวนการในการทำเกษตรอินทรีย์จนถึงการตรวจรับรองมาตรฐานที่ถูกต้อง และนำไปปฏิบัติได้จริง

5.การผลิตไม่สอดคล้องกับตลาด (ผลผลิตมีน้อย การรวมกลุ่มของเกษตรกรยังไม่เข้มแข็งพอ เพราะขาดความเข้าใจและประสบการณ์) 6.ต้นทุนเพิ่ม เกษตรกรและผู้ประกอบการ ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

 7.ขาดความต่อเนื่องในการส่งเสริม การทำเกษตรอินทรีย์ใช้เวลา 3 ปี การส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณดำเนินการให้ครอบคลุม 3 ปี เช่น งบประมาณให้เปล่าเพื่อการพัฒนา กองทุน หรือเงินกู้ เมื่อเกษตรกร/กลุ่ม ขายสินค้าที่เป็น organic ได้ในปีที่ 3 หรือ 4 ซึ่งมีมูลค่าสูง สามารถใช้คืนเงินให้ภาครัฐได้ เป็นต้น) 8.ขาด “Big Data” ที่เชื่อมโยงตลาดเกษตรอินทรีย์กับต่างประเทศ

 9.ขาดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ระหว่างกลุ่มเกษตรกรที่มีประสบการณ์มายาวนาน และเสริมแหล่งของเงินทุน เพื่อหวังผลให้มีการขยายวง/พื้นที่ของการทำเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลให้กว้างขึ้น สู่การค้าการส่งออกที่มีมูลค่าสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สศก.ฝัน ปี 65 “เกษตรอินทรีย์” 1.3 ล้านไร่

ซีพีเอฟดัน “ไข่ไก่ออร์แกนิค” สร้างอาชีพใหม่เมืองแปดริ้ว

อิมแพ็ค เคเทอริง ชู “ออร์แกนิค” ยกระดับวัตถุดิบประกอบอาหาร

'อิชิตัน กรุ๊ป'ส่งเสริมคุณค่าชาออร์แกนิคชาว “อาข่า”

“ปริญญ์”แนะใช้"เทคโนโลยี"เร่งพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์