รถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน โครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมสู่ภาคใต้

18 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
นอกจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน จะอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันของรัฐบาลแล้ว ล่าสุดรถไฟทางคู่ เส้นทางช่วงนครปฐม-หัวหิน ก็ได้รับการเปิดเผยจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายหลังการเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีต่างๆของรถไฟทางคู่ที่อยู่ในแผนการพัฒนาของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ว่าอยู่ระหว่างการเร่งรัดของรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) เร่งพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการควบคู่กับเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ, เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และเส้นทางช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์

[caption id="attachment_86132" align="aligncenter" width="700"] แนวเส้นทางรถไฟทางคู่ นครปฐม-หัวหิน แนวเส้นทางรถไฟทางคู่ นครปฐม-หัวหิน[/caption]

รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน มีมูลค่าโครงการกว่า 2 หมื่นล้านบาท จัดได้ว่าเป็นการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรถไฟที่ช่วยในการยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยได้รับงบประมาณเพื่อออกแบบรายละเอียดมาตั้งแต่ปี 2556

แนวเส้นทางโครงการจุดเริ่มต้นที่สถานีรถไฟนครปฐม ส่วนจุดสิ้นสุดอยู่ที่สถานีรถไฟหนองแก ระยะทางรวมทั้งหมด 169 กิโลเมตร มีจำนวน 28 สถานี ลักษณะโครงการเป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ แนวเส้นทางมีระยะทาง โดยก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม เขตทางกว้าง 60 เมตรเส้นทางวิ่งไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมตลอดสายทาง เริ่มต้นที่ กม.47+700 บริเวณสถานีนครปฐม แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันตกถึงชุมทางหนองปลาดุก ระยะทางประมาณ 16.5 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวซ้ายลงใต้ ผ่านจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สิ้นสุดที่ กม. 217+700 เลยสถานีหัวหินไปประมาณ 4 กิโลเมตร โดยบริเวณสถานีช่วง กม.211+582.900 ถึง กม.215+872.900 ระยะทาง 4.290 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งยกระดับ ระบบรางเป็นทางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge)

โครงการนี้ล่าสุดโครงการได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เรียบร้อยแล้วและคาดว่าจะได้รับอนุมัติจากครม.ในเร็วๆนี้ก่อนที่จะเร่งเปิดประมูลหาผู้รับจ้างโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนต่อไปโดยคาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างในต้นปี 2560 และเริ่มงานก่อสร้างในปลายปีหน้าใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางช่วงนครปฐม-หัวหิน รูปแบบสถานีเน้นความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น มีทั้งรูปแบบสถานีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก(ก่อสร้างใหม่) และขนาดเล็ก(ปรับปรุงใหม่)จุดเด่นยังอยู่ที่สถานีหัวหิน หากก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ สะพานกลับรถรูปตัวยู ถนนลอดใต้ทางรถไฟในหลายจุดด้วยกัน

รถไฟทางคู่เส้นทางเชื่อมโยงโลจิสติกส์สู่ภาคใต้เส้นทางนี้ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ 1.นครปฐม (อ.เมืองนครปฐม) 2.ราชบุรี(อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.เมือง อ.ปากท่อ) 3.เพชรบุรี(อ.เขาย้อย อ.เมือง อ.ท่ายาง อ.ชะอำ) และ 4.ประจวบคีรีขันธ์(อ.หัวหิน) ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางดังกล่าวนี้เรียบร้อยแล้วในท้องที่ต.หนองปากโลง ต.โพรงมะเดื่อ ต.หนองดินแดง อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ต.หนองกบ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง ต.หนองตาคต ต.โพธาราม อ.โพธาราม ต.ท่าราบ อ.เมืองราชบุรี ต.บ่อกระดาน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ต.ห้วยโรง อ.เขาย้อย ต.ปักธงชัย ต.หนองกระแชง ต.ท่าราบ ต.ช่องสะแก ต.ต้นมะม่วง ต.โพไร่หวาน ต.ดอนยาง อ.เมืองเพชรบุรี ต.สมอพลือ ต.หนองกระเจ็ด อ.บ้านลาด ต.หนองศาลา ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยหลังจากครม.อนุมัติให้ดำเนินการเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีสิทธิ์เข้าไปทำการสำรวจและเพื่อขอทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอนต่อไป

ตามผลการศึกษาด้านการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการด้านเศรษฐกิจ พบว่าโครงการมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจในการลงทุนมูลค่าปัจจุบัน 1.43 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน 1.96 มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(EIRR) 23.41%

โดยพบว่าหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุของทางมากกว่า 200 ขบวนต่อวันโดยไม่ต้องรอสับหลีก ลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าสั้นลง อีกทั้งประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งของประเทศ และลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ยังช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค-ท้องถิ่น ช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กำหนดความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าจากปีละ 24 ล้านตันเป็น 28 ล้านตัน ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน เชื่อมโยงการค้า การขนส่งจากภาคใต้สู่ภูมิภาคอื่นๆได้รวดเร็วขึ้น โดยคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มเป็น 24 ล้านคน/ปีในอีก 20 ปีข้างหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559