ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เชื่อมสถานีกลางบางซื่อกับกทม.โซนตะวันตก

14 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.
โครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เป็นเจ้าของโครงการโดยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบสัมปทานโครงการของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) โดยจะเชื่อมโยงพื้นที่ย่านพหลโยธินที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จะปั้นให้เป็นฮับของการเดินทางรับเออีซีไปยังพื้นที่โซนตะวันตกของกรุงเทพมหานครและไปเชื่อมโยงกับถนนกาญจนาภิเษกที่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางหลักสามารถเดินทางไปยังภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคเหนือและภาคอิสานได้อย่างสะดวก

[caption id="attachment_61978" align="aligncenter" width="500"] บริเวณก่อสร้าง บริเวณก่อสร้าง[/caption]

ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จเหลือเพียงเร่งติดตั้งระบบ โดย กทพ.กำหนดวันที่จะเปิดให้บริการในช่วงเดือนสิงหาคม 2559 นี้ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การเดินทางของผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางจากพื้นที่โซนตะวันตกของกรุงเทพมหานครมาสู่ย่านใจกลางเมืองได้อย่างสะดวก ไม่ต้องอ้อมเส้นทางหรือใช้เวลาเดินทางอันยาวนานอีกต่อไป

สำหรับโครงการทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนกรจราจรและขนส่ง (สนข.) ได้ทำการศึกษาออกแบบโครงการระบบทางด่วนทดแทนโครงการทางด่วนสายพญาไท - พุทธมณฑลแล้วเสร็จในปี 2548 หลังจากนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานและเปลี่ยนชื่อโครงการเป็นโครงการทางพิเศษสาย ศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครตามจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 ให้กทพ.ดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครโดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้าง บริหาร และบำรุงรักษาโครงการฯ ในรูปแบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ 2535 และกทพ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) (ชื่อเดิม)เป็นผู้ชนะ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเอกชนร่วมลงทุนโครงการนี้โดยได้ว่าจ้างบริษัท ช.การช่าง จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้าง

รูปแบบเส้นทางจะเป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร โดยก่อสร้างบนเขตทางรถไฟสายใต้ที่มีอยู่เดิมเป็นส่วนใหญ่ มีจุดเริ่มต้นจากถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้กับโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ แนวเส้นทางโครงการฯ จะวางตัวจากด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ขนานกับทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง(บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และมีจุดปลายทางที่ชุมทางรถไฟบางซื่อ บริเวณใกล้สถานีขนส่งหมอชิต 2 ระยะทางรวมประมาณ 16.7 กม. โครงการทางพิเศษสายนี้มีด่านเก็บค่าผ่านทางเพื่อเข้าใช้ทางพิเศษจำนวน 10 ด่าน เป็นด่านบนพื้นราบ 6 ด่าน ด่านบนทางยกระดับ 4 ด่าน นอกจากนี้ยังมีอาคารศูนย์ควบคุมทางพิเศษ และสถานีตำรวจทางพิเศษอีกอย่างละอาคารที่จะก่อสร้างไว้บนพื้นราบเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการนั่นเอง

"ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกทม.ด้านตะวันตก" นี้แนวเส้นทางจะสร้างคู่ขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟสู่ภาคตะวันตกและภาคใต้ โดยมีทางขึ้น-ลงจำนวน 7 จุด คือ ทางขึ้น-ลงช่วงถนนกำแพงเพชรและจุดเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช ทางขึ้น-ลงพระราม 6 (บริเวณด่านสะพานพระราม 7) ทางขึ้น-ลงจรัญสนิทวงศ์ (ช่วงด่านบางกรวย) ทางขึ้น-ลงบางบำหรุ (บริเวณด่านบางบำหรุ) ทางขึ้น-ลงราชพฤกษ์และจุดเชื่อมต่อทางยกระดับบรมราชชนนี(บริเวณด่านบรมราชชนนี) และทางขึ้น-ลงกาญจนาภิเษก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559