ผู้สูงวัยกับ Long Covid โรคต่อเนื่องหลังโควิด-19

29 มี.ค. 2567 | 21:05 น.

ผู้สูงวัยกับ Long Covid โรคต่อเนื่องหลังโควิด-19 คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายวันก่อน ผมได้โทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อนผู้สูงวัยท่านหนึ่ง หลังจากที่ได้คุยเรื่องงานเสร็จ ก็ได้สอบถามสารทุกข์สุกดิบกันตามมารยาท ปรากฏว่าท่านบอกว่า ทุกวันนี้ท่านไม่ค่อยจะเหมือนเดิมแล้ว สืบเนื่องจากการที่ท่านได้ติดเชื้อโควิด-19 มาในช่วงของการระบาดหนักๆ 

ซึ่งในตอนนั้นท่านเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด ยังดีที่ลูกๆ นำส่งโรงพยาบาลทันเวลา ไม่อย่างนั้นท่านคงได้ไปเฝ้ายมบาลเรียบร้อยแล้ว แต่หลังที่รักษาหายดีแล้ว ก็กลับมาพักฟื้นที่บ้าน ท่านก็รู้สึกว่าปกติดี แต่ล่วงเลยไปได้ไม่กี่เดือน ท่านก็เหมือนเริ่มมีอาการไม่เป็นปกติเรื่อยมา ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์ก็ตรวจไม่พบว่าเป็นอะไร? แต่ตัวท่านเองมีความรู้สึกว่าปวดเนื้อปวดตัวบ่อยมาก และบางครั้งก็หายใจลำบาก แน่นหน้าอก บางครั้งก็ไอหนักมาก ตัวท่านเองรู้ว่าตัวเองไม่ปกติแน่นอน 
 

ผมจึงถามไปว่า ไปโรงพยาบาลเดิมที่เคยมีประว้ติหรือโรงพยาบาลที่เคยรักษาในช่วงที่เป็นโควิดหรือเปล่า? ท่านตอบว่า ไม่ใช่ เพราะปัจจุบันนี้แถวบ้านท่านมีคลีนิคที่เปิดใหม่ ดูทันสมัยและแพทย์ก็เป็นแพทย์ที่มาจากโรงพยาบาลใหญ่ที่น่าเชื่อถือมาก ไม่น่าจะแตกต่างจากโรงพยาบาลที่มีประวัตินะครับ 

ผมจึงถามต่อว่า แล้วได้บอกหมอไปหรือเปล่าว่าเคยติดโควิดมาก่อนแล้ว ท่านบอกว่าไม่ได้บอก ผมจึงแนะนำไปว่า ให้ไปโรงพยาบาลที่เคยรักษาโรคโควิดให้ท่านด่วนเลย เพราะผมสงสัยว่าท่านจะต้องติดโรค Long Covid แน่นอน ท่านจึงซักถามผมว่าอะไรคือ Long Covid ผมก็บอกท่านไปว่า ให้แพทย์ที่โรงพยาบาลบอกท่านเองจะดีกว่า เพราะฟังจากปากผมอาจจะมีการคลาดเคลื่อนได้ ฟังจากคุณหมอน่าจะดีที่สุดนะครับ เพราะถึงอย่างไรท่านก็ต้องไปพบแพทย์อยู่แล้วครับ
 

โรค Long Covid ในแต่ละแห่ง ก็มีคำเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO)ได้ให้คำนิยามสาหรับอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาวว่า  Post COVID-19 condition หรือสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ (The National Institute for Health and Care Excellence, NICE) ของสหราชอาณาจักร เขาก็จะเรียกว่า Post COVID-19 syndrome ไม่ว่าจะเรียกอาการเหล่านี้ว่าอะไร? 

แต่ถ้าอ่านดูคำนิยามของอาการเหล่านี้ ก็จะทราบได้ว่า นี่คืออาการของโรค Long Covid เหมือนกันทั้งนั้นครับ อาการของโรคนี้ จะเกิดได้ทั้งด้านร่างกายและทางด้านจิตใจ ที่คงอยู่เป็นเวลานานกว่า 12 สัปดาห์ หลังจากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจาก Covid-19 อย่างเฉียบพลัน โดยอาการด้านร่างกาย ได้แก่ อาการเหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจเร็ว ไอ เจ็บข้อ เจ็บหน้าอก และความจำผิดปกติ ส่วนอาการทางด้านจิตใจ ได้แก่ เกิดความเครียดหลังได้รับบาดแผลทางจิตใจ วิตกกังวล นอนไม่หลับ และซึมเศร้า เป็นต้น 
           
ผมได้เข้าไปสืบค้นบทวิจัยจากเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งของในประเทศและต่างประเทศ ปรากฏว่ามีผู้ทำงานวิจัยเรื่องนี้เยอะมาก ภายในประเทศไทยเรา ก็มีหลายสำนักที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ เรียกว่าเป็นเรื่องท็อปฮิต ทั้งในกลุ่มของนักศึกษาทุกระดับชั้นเลยครับ ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก 

ผมก็เห็นบทความที่หลากหลายมาก อีกทั้งในวงการแพทย์พยาบาล ก็มีทั้งของมหาวิทยาลัยและของโรงพยาบาลต่างๆ ที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องนี้เยอะมากทีเดียว ไม่เพียงแต่ภายในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็มีเยอะมากครับ พอสืบค้นเข้าไป ก็จะเจอเยอะมากทีเดียว ผมเลือกอ่านมาหลายบทความ มีบทความหนึ่งที่มาจากของนิตยสาร International Journal of Biological Sciences

เป็นบทวิจัยที่มีนักวิจัยที่เป็นคนจีนกลุ่มหนึ่ง คือ Ho Cheng Koc , Jing Xiao, Weiwei Liu Yong Li, และGuo kai Chen เขาทำวิจัยเรื่อง  Long COVID and its Management ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ การบริหารจัดการกับอาการโรค Long Covid ซึ่งเนื้อหาน่าสนใจมาก มีเนื้อหาที่เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง Quasi-experimental และมีการใช้การวิจัยด้วยการทบทวนวรรณกรรมอย่างมีระบบ Systematic Reviews 

ซึ่งผู้วิจัยเขียนบทวิจัยที่อ่านง่ายๆ ไม่ค่อยได้ใช้ศัพท์ทางวิชาการมาก จนทำให้อ่านยากและน่าเบื่อ ถ้าพวกเราชาวสูงวัยทั้งหลาย ที่ได้เคยมีอาการป่วยขั้นปางตายมาแล้ว ผมคิดว่าถ้าอ่านน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลยครับ
      
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ คงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะเป็นโรคที่ต่อเนื่องจากการติดเชื้อ Covid-19 ดังนั้นทุกคนคงจะรู้ข้อมูลหมดแล้ว ผมเพียงแต่อยากให้ผู้สูงวัยระมัดระวังและหมั่นสังเกตตัวเอง แต่ไม่ต้องกังวลใจมากจนเกินไป หากมีอาการผิดสังเกตใดๆ เกิดขึ้นกับตนเอง ควรจะต้องรีบไปโรงพยาบาลที่เคยรักษาเรา ในช่วงที่เราติดโรค Covid-19 อยู่ 

เพราะทางโรงพยาบาลนั้น เขาจะมีข้อมูลการรักษาเราอยู่ หรือหากบางท่านที่เคยเขาไปพักรักษาตัวอยู่ที่ศูนย์กักกันใด? ก็ลองสอบถามไปยังศูนย์นั้น ว่าเขาเป็นคู่สัญญากับโรงพยาบาลใด? ท่านก็ควรจะไปพบแพทย์ที่แห่งนั้นครับ อย่าไปคิดเอาเอง ว่าเราเป็นโรค Long Covid หรือมโนฯ เอาเองไม่ได้นะครับ เพราะจะทำให้ท่านอาจจะจิตตกไปโดยใช่เหตุครับ
            
โรคทุกโรคจำเป็นต้องให้แพทย์เฉพาะทาง หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เป็นผู้วินิจฉัย และเป็นผู้ทำการรักษา อย่าคิดว่าการซื้อยามาทานเอง เป็นวิธีการที่ชาญฉลาดของเรา เพราะนั่นอาจจะทำให้เราเกิดอาการรุนแรงขึ้น จะยิ่งรักษายากขึ้นด้วยนะครับ 

วันนี้เราในฐานะคนไทยทุกคน เรามีสิทธิในการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ไม่ว่ายากดีมีจน รัฐบาลเขาก็ต้องดูแลเราให้เท่าเทียมอย่างถ้วนหน้า เพียงแต่บางท่านที่มีฐานะที่ดี สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ เราก็ต้องยอมรับในส่วนนี้ไปนะครับ