วิวัฒนาการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนจีน

01 มี.ค. 2567 | 23:44 น.

วิวัฒนาการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนจีน คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ผมได้เล่าเรื่องการแพทย์แผนจีนมาหลายตอนแล้ว ตอนแรกคิดน่าจะพอได้แล้ว เพราะเกรงว่าเพื่อนๆ ที่อ่านจะรำคาญ แต่ก็มีเพื่อนหลายท่านยังส่งคำถามเข้ามาไม่ขาดสาย ตัวผมเองก็เป็นคนบ้าจี้เสียด้วยซิ ..ก็เลยอดไม่ได้ที่จะขอต่ออีกสักอาทิตย์ก็แล้วกันนะครับ หวังว่าทุกท่านจะคงยังพอให้อภัย ติดตามกันต่อไปก่อนนะครับ อาทิตย์หน้าค่อยมาอ่านเรื่องอื่นๆ ต่อนะครับ
           
อันที่จริงการรักษาของแพทย์แผนจีน จะแยกแยะหรือวินิจฉัยโรคเพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ตามหลักของการแพทย์แผนจีนนั้น มีด้วยกัน 4 วิธี คือ การตรวจด้วยสายตาหรือการดู เรียกว่า “ว่าง望” การดมกลิ่นเรียกว่า “เหวิน聞” สอบถามอาการหรือเรียกว่า “เหวิ่น問” สุดท้ายคือการผ่าตัด หรือเรียกว่า “เช่ 切” นี่คือเบสิกพื้นๆ ของวิธีการวินิจฉัยโรค ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์อาการทั่วไป เพื่อการรักษาที่แม่นยำ 

การดำเนินการตรวจทั้ง 4 วิธีดังกล่าวมานี้ สามารถระบุถึงสาเหตุของการเกิดโรค และความสัมพันธ์ของโรคกับตำแหน่งที่โรคเกิดบนตัวของผู้ป่วย ตลอดจนถึงจุดอ่อนจุดแข็งของอาการโรคที่เกิด เพื่อสรุปถึงที่มาที่ไปของโรคนั้นๆ อีกทั้งเมื่อตรวจด้วยทั้ง 4 วิธีดังกล่าวแล้ว ยังสามารถระบุถึงพื้นฐานของโรคนั้นๆ เพื่อนำมากำหนดวิธีการรักษาต่อไปได้ด้วย
       
บางครั้งเราจะเห็นว่าแพทย์แผนจีนจะใช้วิธีการ “แมะ” หรือการจับดูชีพจรของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูอาการเต้นของหัวใจว่าเป็นปกติหรือไม่? จากนั้นก็ต้องใช้หลักการ 4 แนวทางทางการแพทย์ มาวินิจฉัยโรคที่เกิด และเข้าสู่การรักษา โดยลำดับความสำคัญก่อนหลังของอาการ เพื่อรักษาด้วยการเรียงจากความจำเป็นของอาการ และระยะเวลาที่จะต้องรักษาต่อไป
 

ตัวผมเองต้องขอสารภาพว่า ก่อนหน้านี้ ผมไม่ค่อยจะให้ความเชื่อมั่นกับวิธีการ “แมะ” ของแพทย์แผนจีนเท่าไหร่นัก เพราะผมยังคงคิดว่า นั่นเป็นเพียงการคาดเดาเอาเอง โดยไม่ได้มีหลักการตามวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นข้ออ้างอิงเลย แต่ต่อมาพอได้อ่านบทวิจัยทางการแพทย์แผนจีนมากขึ้น ชักจะเริ่มคล้อยตามเสียแล้ว เพราะว่าเขามีการทำการวิจัยที่เป็นไปตามหลักวิชาการ 

ไม่ว่าจะด้วยการใช้หลักการวิจัยหลากหลายวิธี อีกทั้งยังมีการใช้สถิติชั้นสูง มายืนยันถึงผลการรักษา ว่ามีความน่าจะเป็นหรือมีความเชื่อมั่นตามหลักสถิติ เลยทำให้ผมชักจะไม่แน่ใจว่า ความเชื่อดั้งเดิมที่ผมมีต่อการแพทย์แผนจีน ว่าน่าจะ “มั่ว” หรือนั่งเทียนคิดเอาเองหรือเปล่า? ก็ต้องทดลองด้วยตัวเองบ้างก็ดีเหมือนกันนะครับ แต่อย่าได้เป็นโรคอะไรเลยครับ ...ผมยังไม่ว่างที่จะป่วย
        
อีกประการหนึ่งที่สามารถทำให้ผมเริ่มจะคล้อยตาม คือ บทพิสูจน์ที่การแพทย์แผนจีน มีการรักษาในประเทศจีนมายาวนาน อีกทั้งปัจจุบันนี้ เวลาผมเดินทางไปที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ก็จะมีโรงพยาบาลการแพทย์แผนจีนให้เห็นอยู่แทบทุกเมือง ผมพอจะอนุมานได้ว่า ของเขาน่าจะมีดีจริงๆ ครับ เพราะถ้าไม่ดีจริง รัฐบาลเขาคงไม่มีการวิจัยและมีโรงพยาบาลมารักษาประชาชนของเขาแน่นอน
          
ในส่วนของการรักษาตามหลักของแพทย์แผนจีนนั้น เมื่อมีการวินิจฉัยที่แม่นยำแล้ว ก็จะกำหนดวิธีการรักษา ซึ่งวิธีการรักษาก็จะมีอยู่หลายวิธี มีทั้งการฝังเข็ม กัวซา ถ่ายเลือด หรือทุยหน่า ถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยา ก็จะมีการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งการใช้ยาในการรักษานั้น เรามักจะเข้าใจว่าแพทย์แผนจีนจะจ่ายยาสมุนไพรเป็นหลัก 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรักษาด้วยยารักษาโรคของแพทย์แผนจีน จะมีค่อนข้างจะหลากหลายวิธี เช่น วิธีการรักษาภายใน โดยการให้ยาในช่องปากแบบทั่วไป ไม่ได้มีเฉพาะให้ทานยาเท่านั้นนะครับ อาจจะเป็นใช้การพ่นยา กวาดยา (ใช้ยาที่กำหนดในการรักษา ผสมให้มีความหนืดเล็กน้อย แล้วจึงกวาดปาดเข้าไปทางช่องปาก) 

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาภายนอก เช่น การใช้ยาภายนอก การรีดร้อน การรมยา และการล้าง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยการปรับสมดุลของร่างกาย ด้วยการใช้การบริหารร่างกาย ด้วยวิธีการต่างๆ อีกหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปรับสมดุลด้วย “ชี่กง” “ไท้เก็ก” เพื่อให้ระบบของร่างกายผู้ป่วย โดยหยินและหยางมีความสมดุลมากขึ้นนั่นเอง
       
หากเราจะสังเกตใบสั่งยาของแพทย์แผนจีน ส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้ผู้ป่วยด้วยหลักการ 4 ประการ เช่น วิธีการรับประทานยา วิธีรักษาอารมณ์ของตนเอง(การควบคุมอารมณ์) วิธีการออกกำลังกาย และสุดท้ายคือข้อห้ามต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการห้ามรับประทานอาหารบางชนิด ที่มีผลข้างเคียงต่อการทำให้ฤทธิ์ของยาที่ทานเข้าไป ไม่สามารถสัมฤทธิผลได้ตามต้องการเป็นต้น จะเห็นได้ว่า การแพทย์แผนจีนที่ทำการรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วย มักต้องมีการใช้แนวทางรักษาแบบองค์รวม เพื่อบูรณาการร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเป็นหลัก 
       
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการการรักษาของแพทย์แผนจีน ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยมากขึ้น โดยการนำเอายาที่ใช้การฉีดเข้าสู่ร่างกาย มารักษาแบบผสมผสานมากขึ้น ซึ่งมีการใช้การฉีดเข้ากล้ามเนื้อและทางหลอดเลือดมาใช้ด้วย 

นอกจากนี้ส่วนผสมของยาจีนที่นำมาใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ธรรมชาติ พืช แร่ธาตุ สารเคมีที่ไม่สังเคราะห์ ที่สามารถใช้ในการรักษาที่สอดคล้องกัน ตามการกำหนดของกฎหมายจีน ที่อนุญาตให้นำมารักษาได้ ดังนั้นเราจึงสามารถเชื่อใจได้ว่า เขาไม่ได้มั่วอย่างที่ผมเข้าใจในอดีตแล้ว
      
นอกจากนี้เครื่องไม้เครื่องมือของการแพทย์แผนจีน ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยมากขึ้นด้วย เช่น ขนาดของเข็มที่ใช้ฝังทั่วไป หากมีการใช้ฝังให้แก่คนที่กลัวเข็ม หรือฝังในตำแหน่งที่น่าจะมีความเจ็บปวดมากกว่าปกติ ก็จะเปลี่ยนขนาดจากเข็มรุ่นเก่ามาใช้รุ่นปัจจุบัน 

ปัจจุบันนี้ที่นิยมใช้กันมีขนาดประมาณ 0.25-0.3 mm และถ้าหากใช้กับอวัยวะที่บอบบาง เช่น ใบหน้า ก็จะใช้ขนาดเพียง 0.13 mm เท่านั้น ทำให้เวลาแพทย์ทำการปักเข็มเข้าสู่จุดต่างๆ ของร่างกายผู้ป่วย แทบจะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย มดกัดยังเจ็บกว่าด้วยซ้ำไปครับ