โรคข้อเข่าเสื่อมกับผู้สูงวัย

22 มี.ค. 2567 | 21:08 น.

โรคข้อเข่าเสื่อมกับผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายวันก่อน ผมไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ตอนที่เราได้พบกันนั้น ผมก็สังเกตเห็นท่านเดินเหินไม่ค่อยสะดวก คือ มีอาการก้าวเดินแล้วต้องโยกตัวไปมาซ้ายทีขวาที ซึ่งนั่นน่าจะเป็นอาการของผู้สูงวัยที่มีโรคข้อเสื่อมคุกคามแล้วอย่างชัดเจน จึงได้สอบถามอาการท่านไปว่า ท่านมีอาการเจ็บหัวเข่าบ้างมั้ย? ท่านก็บอกว่า ก็เจ็บเป็นธรรมดาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติ 

ผมจึงแนะนำว่า อย่างน้อยที่สุดควรให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดได้แล้ว อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เพราะนั่นจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดมากขึ้น และอาจจะถึงขั้นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูกเทียมได้นะครับ
 

โรคข้อเสื่อมส่วนใหญ่เกิดจากกระดูกอ่อนมีอาการเสื่อมสมรรถภาพลง เนื่องจากกระดูกอ่อนเป็นเนื้อเยื่อ ที่พบในบริเวณข้อต่อของกระดูก และมีบทบาทสำคัญในการป้องกันกระดูกจากแรงกระแทก เมื่อร่างกายเราเคลื่อนไหว ดังนั้นโครงสร้างของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน จึงมีการจัดเรียงตัวสารชีวโมเลกุลที่ช่วยในการลดแรงกระแทก 

โดยเฉพาะในส่วนของร่างแหคอลลาเจน ซึ่งจะประกอบไปด้วยสารสำคัญได้แก่ คอลลาเจน และโปรตีโอไกลแคน(Proteoglycans) ซึ่งอธิบายง่ายๆ คือ เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนจะเสื่อมสภาพตามอายุขัยของมนุษย์ เราจึงเห็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะมีอาการโรคข้อเสื่อมกันมาก 
 

แน่นอนว่าเซลล์ของเนื้อเยื่อ แม้จะเสื่อมสลายไป แต่สารชีวโมเลกุลก็จะสร้างเสริมเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทน ดังนั้นการรักษาสมดุลของการสร้างและสลายของกระดูกอ่อน จึงเป็นกระบวนการที่สําคัญมาก หากกระดูกอ่อนมีอัตราการสลายสารชีวโมเลกุลมากกว่าการสร้างขึ้นมาใหม่ จะนําไปสู่การเกิดโรค เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้อเข่า เป็นต้น 

ปัจจุบันมีการพัฒนายาให้มีความจําเพาะต่อการรักษาโรคข้อเสื่อม โดยเรียกยากลุ่มนี้ว่า disease modifying anti-osteoarthritis drug (DMOAD) โชคดีที่ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนายาที่มีศักยภาพภาพ ในการยับยั้งการส่งสัญญาณต่างๆ ภายในเซลล์ เพื่อนํามารักษาโรคข้อเสื่อม รวมถึงการลดการอักเสบผ่าน adenosine receptor ซึ่งสามารถยับยั้งการอักเสบได้เป็นอย่างดี และจะสามารถนํามาใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมได้ด้วย
    
โรคข้อเสื่อมหรือบางครั้งอาจจะเรียกว่า “โรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อม (osteoarthritis)”  เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกที่พบบ่อยที่สุดในประชากรทั่วๆไป โรคนี้นอกจากจะเกิดจากเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนเสื่อมสลายแล้ว ยังอาจจะเกิดจากการเสื่อมที่ทำให้มีการแตกกร่อนของกระดูกอ่อนได้ ซึ่งนำไปสู่อาการฝืดข้อและเจ็บข้อได้  

ส่วนใหญ่ที่ส่งผลไปสู่การเกิดภาวะเสื่อมของกระดูกอ่อน ได้แก่ โรคอ้วน หรืออุบัติเหตุที่บริเวณข้อต่างๆ  กล้ามเนื้อรอบข้ออ่อนแรง เส้นประสาทรอบข้อบกพร่อง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการรับความรู้สึก การอักเสบของเนื้อเยื่อหุ้มข้อ บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วสามารถเกิดจากกรรมพันธุ์ได้หรือไม่? 

ต้องบอกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ ถ้าพ่อ-แม่เป็นคนร่างอ้วน แล้วส่งผลให้ลูกๆ เกิดความอ้วนอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่สามารถส่งผลข้างเคียงให้เกิดมีอาการอ้วนได้ จึงทำให้เราคิดว่าเป็นกรรมพันธุ์ ซึ่งแน่นอนว่านั่นอาจจะไม่ใช่กรรมพันธุ์โดยตรงก็ได้
      
โรคข้อเสื่อมพบได้ทุกข้อของร่างกาย ไม่ได้จำกัดแต่เพียงข้อเข่าเท่านั้น แต่โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับข้อที่คอยรับน้ำหนัก หรือข้อที่ต้องใช้งานมาก ข้อเหล่านี้ ได้แก่ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อของกระดูกสันหลังบริเวณหลังและลำคอ ข้อเล็กๆ ของนิ้วมือและข้อของนิ้วหัวแม่เท้า จะมีเพียง ข้อมือ ข้อศอก หรือข้อเท้า ที่พบน้อยกว่าข้ออื่นๆ 

ยกเว้นแต่ว่าจะเกิดขึ้นหลังเกิดอุบัติเหตุ การติดเชื้อ หรือการใช้งานมากๆ ที่ข้อดังกล่าว ส่วนใหญ่มักจะพบมากเมื่ออายุมากขึ้น หรือกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายหรือผู้หญิง เพียงแต่ถ้าอายุน้อยกว่า 45 ปี ผู้ชายก็จะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง แต่หลังจากอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้หญิงจึงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายครับ  
         
โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่ทำการรักษาได้ถึงแม้ว่าจะไม่หายขาด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นด้วยการรักษา การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และการพบแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ ที่นำไปสู่การประสบความสำเร็จในการรักษา จากการที่ผมได้อ่านพบในบทวิจัยหลายๆ เล่ม  มีอยู่เล่มหนึ่ง ที่ได้ทำการวิจัยโดยนักวิจัยคนไทยเรานี่แหละ คือเรื่อง “ผลการเข้าร่วมโปรแกรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก และข้อ ของโรงพยาบาลลำพูน” 

ผู้วิจัยชื่อ “ดุษฎี อุณเวทย์วานิช” เนื้อหาโดยสรุป ผู้วิจัยได้ใช้การวิจัยแบบทดลองทางคลินิก (Clinical Trial)โดยใช้กลุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม เพื่อทดลองใช้โปรแกรมการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ซึ่งประกอบด้วยแบบแผนการให้ความรู้อย่างเจาะจงด้านการปฏิบัติตัว และการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบเข่า ด้วยท่าบริหาร 3 ท่า 

กลุ่มตัวอย่างได้รับการติดตามประเมินผลเดือนละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติชั้นสูงมาวัดผลการทดลอง สรุปผลของการศึกษา พบว่าผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่เข้าร่วมโปรแกรมการดูแลตนเอง มีระดับความเจ็บปวดลดลง สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดี ลดการใช้ยาแก้ปวดปริมาณสูงลง โดยที่อัตราการใช้ยาแก้ปวดน้อยลงกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ
          
ดังที่เล่ามาทั้งหมด ผมคิดว่าการรักษาโรคข้อเสื่อมของผู้สูงอายุ นอกจากจะใช้การรักษาด้วยยาแล้ว หากใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย ด้วยท่วงท่าที่เหมาะสมกับอาการป่วย อาจจะมีผลดีต่อการฟื้นฟูร่างกายได้เป็นอย่างดี 

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยตามหลักการเสียก่อน และต้องทำตามที่แพทย์สั่ง จึงจะเกิดผลดีต่อตัวเราเอง ถ้าท่านคิดว่า “....แก่แล้ว ชั่งเถอะ ....”  ท่านอาจจะต้องทนทรมานร่างกาย ด้วยความเจ็บปวดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอนครับ