ทุยหน่า การนวดแผนจีน

23 ก.พ. 2567 | 20:46 น.

ทุยหน่า การนวดแผนจีน คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

บทความบทนี้ มิได้มีเจตนาจะนำการนวดแผนจีน มาเปรียบเทียบกับการนวดแผนไทย ซึ่งไทยเราก็ถือเอาการนวดแผนไทย ซึ่งเป็นวิชาการแพทย์แผนไทยแขนงหนึ่ง เข้ามาสู่บทเรียนทางการแพทย์ประเภทหนึ่ง ต้องพูดว่าแต่ละชาติก็มีการนวดที่มีความคล้ายคลึงกัน หรือไม่แตกต่างกันมากมายนัก ตัวผมเองเดินทางไปทั่วสารทิศ ไม่เพียงแต่ในทวีปเอเชียเท่านั้น ที่ไปมาเกือบทุกประเทศ (ไม่ต่ำกว่าสาม-สี่สิบประเทศ) สิ่งที่อยากลอง ก็คือการนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยนี่แหละครับ 

ดังนั้นได้เห็นวิธีการนวดของแต่ละพื้นที่ ต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยด้วยกันทั้งนั้น แล้วแต่ใครจะชอบหรือคุ้นเคยการนวดแบบไหน ก็นานาจิตตังละครับ ในขณะที่แพทย์แผนจีน ก็มีการบำบัดด้วยการ “ทุยหน่า” หรือการนวดด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยครับ 

ในส่วนตัวผมเอง ก็เคยมีประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่หาหมอจีนเพื่อรักษาอาการ ด้วยการรักษาแบบ “ทุยหน่า” (ผมอาจจะคิดเอาเองก็ได้ว่านั่นคือการรักษาแบบทุยหน่า)โดยในช่วงที่อายุ 8-9 ขวบ ซึ่งช่วงนั้นคุณลุงของผมเปิดร้านขายของชำชื่อ “ร้านเต็กกี่” ที่ในอำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ส่วนที่บ้านของผมอยู่บ้านโคกสวาย บ้านนอกพอควร คุณพ่อผมจึงได้ส่งให้ลูกๆ ทุกคนเข้ามาอาศัยอยู่บ้านคุณลุงที่ตัวอำเภอ เพื่อได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนประจำอำเภอ 

ผมตอนที่เป็นเด็กๆ จะเป็นเด็กที่ซนอยู่ไม่น้อย มีอยู่ปีหนึ่งพอเข้าสู่ฤดูฝน น้ำป่าไหลบ่าเข้าท่วมอำเภอโนนไทย พวกเราเด็กๆ ก็ไปเล่นน้ำ กระโดดน้ำที่สะพานกันอย่างสนุกสนาน ในระหว่างที่เด็กๆ วิ่งแย่งกันกระโดดน้ำบนสะพานนั้น บังเอิญมีรถวิ่งผ่านมา ด้วยความรีบร้อนจึงทำให้ผมเกิดพลัดตกหกล้ม แขนข้างซ้ายกระแทกพื้นหัก คุณแม่พอทราบเรื่องก็เข้ามารับตัวกลับไปบ้านโคกสวาย 
 

จากนั้นพาไปหาพ่อใหญ่วอน คุณหมอแผนโบราณประจำหมู่บ้าน พ่อใหญ่วอนท่านก็เสกคาถาเป่าให้ผม รวมทั้งนวดด้วยน้ำมันงาวิเศษของท่าน รักษาอยู่เกือบอาทิตย์ก็ไม่หาย แขนของผมจึงระบมอักเสบมากๆ คุณแม่เลยพาขึ้นรถเข้าเมืองโคราช เพื่อไปพบหมอจีนแก่ๆ ท่านหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ซินแซ” ที่อยู่แถวๆ วัดแจ้งในตัวจังหวัด คุณหมอท่านนี้เก่งกาจทางด้าน “ทุยหน่า” มาก 

ผมจำได้สนิทใจเลย เพราะพอคุณแม่พาผมเข้าไปในห้องรักษาของคุณหมอ คุณหมอก็ให้ผมยื่นมือเยียดตรงไปข้างหน้า ผมไม่สามารถเยียดตรงได้ ท่านก็จับมือผมกระชากอย่างแรงสองสามครั้ง ผมปวดจนทนไม่ไหวร้องไห้ด้วยเสียงอันดังมาก นั่นเป็นการดึงให้กระดูกที่หลุดเข้าที่อีกครั้ง จากนั้นก็เอาสมุนไพรจีนที่ตำไว้แล้ว มาผสมกับน้ำมันยา แล้วนำมาพอกที่แขนผม จึงแล้วเสร็จวิธีการรักษาให้กลับบ้านได้ 

ครั้งนั้นเรียกว่าเจ็บจนจำไม่รู้ลืมเลยละครับ  พอกลับมาถึงบ้าน คุณแม่ต้องเปลี่ยนยาพอกแขนให้อีกหลายวันกว่าอาการจะหาย ยังดีที่แขนไม่ได้งอเป็นคน “แขนคอก” นะครับ ไม่งั้นคงไม่หล่อแน่ๆ เลยครับ.....แฮ่
      
ในการแพทย์แผนจีนที่กล่าวมาแล้วว่ามีการนวดอยู่ด้วยเช่นกัน เขาเรียกว่า “ทุยหน่า” 推拿 บางที่ก็อาจจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น อ้านโม๋ 按摩 หรือบางที่ก็อาจจะเรียกว่า อ้านเชียว 按蹺 ซึ่งก็มีมาช้านาน ตั้งแต่ยุคสมัยของราชวงค์หวงตี้ ซึ่งก็เริ่มมีการบันทึกประวัติศาสตร์จีนในยุคแรกๆ ก็เริ่มมีการบันทึกวิธีการทุยหน่าแล้ว 

ต่อมาในยุคราชวงศ์ฉิน-ฮ้าน ก็ได้มีบันทึกเป็นหนังสือชื่อ หวงตี้นุ้ยจิง “黃帝內經” และอีกเล่มหนึ่งชื่อว่าหวงตี้จือป๋ออ้านโม๋สือเจี้ยน  “黃帝岐伯按摩十卷” ซึ่งได้บันทึกวิธีการนวดรักษาอาการของแพทย์แผนจีนไว้อย่างละเอียดครับ
     
ในบทหนึ่งของบันทึกหวงตี้นุ้ยจิง ได้มีข้อความว่า “ชี่(氣) ที่เป็นปรากฏการณ์ทำให้เกิดความเย็นในร่างกาย จะกระจายอยู่ระหว่างลำไส้กับกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อหุ้มเซลล์และเลือดไม่สามารถกระจายตัวได้ จึงทำให้มีอาการตึงตัวของกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน สร้างความเจ็บปวดเกิดขึ้น การกดหรือนวดไปที่จุดดังกล่าว จะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ชี่(氣)จะกระจายตัว จึงให้กดหรือนวดเพื่อบรรเทาอาการปวด...” 

ซึ่งในความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตัวผมเองก็ไม่ได้เป็นแพทย์ คงต้องสอบถามกับแพทย์ผู้รู้เรื่องดังกล่าวจริงๆ จึงจะทราบได้ว่าใช่หรือไม่นะครับ เพราะเรื่องชี่(氣) เป็นเรื่องที่มองด้วยตาคงยากจะพิสูจน์ให้เห็นได้ แต่ในทางการแพทย์แผนจีน เท่าที่ผมได้อ่านในบทความหลายๆ ฉบับ ก็เห็นมีการกล่าวถึงมากมาย เลยยังเป็นคำถามในใจผมมาตลอดครับ
          
การรักษาแบบทุยหน่า ตามที่ได้อ่านในบทความอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นบทความในนิตยสารภาษาจีน ถ้าท่านอยากอ่าน ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ https://www.bowtie.com.hk พิมพ์คำว่า 推拿 ก็จะสามารถอ่านได้ครับ ในนั้นได้บรรยายถึงสรรพคุณของการบำบัดรักษาแบบทุยหน่าไว้ว่า เป็นการทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึง อีกทั้งช่วยในการควบคุมชี่(อีกแล้ว) ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดและเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ 

สิ่งนี้มีผลอย่างมากต่อการบรรเทาอาการปวด สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังหรือผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งในส่วนตัวผม ก็คิดว่าการนวดของแพทย์แผนไทย ก็มีสรรพคุณที่คล้ายๆ กันนี่แหละครับ เพียงแต่ของเราไม่ได้นำเอาเรื่องราวของชี่(氣) มาอธิบายหรือเสริมสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือ ซึ่งนี่ก็คงจะเป็นแผนการตลาดอีกวิธีหนึ่งนั่นเองครับ
      
อย่างไรก็ตาม แพทย์แผนจีนเขาก็ได้นำเอาการบำบัดรักษาแบบทุยหน่า ไปผสมผสานกับการรักษาแบบอื่นๆ เช่น การถ่ายเลือด การกัวซา การครอบแก้ว หรือแม้แต่การฝังเข็ม ก็สามารถนำเอามาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ด้วยครับ ส่วนจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนอย่างไร? ผมเองก็ไม่สามารถยืนยันได้นะครับ ต้องแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท่านละครับ