โรคกระดูกพรุนในผู้สูงวัย

08 มี.ค. 2567 | 21:30 น.

โรคกระดูกพรุนในผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายวันก่อน ผมได้ไปร่วมงานเลี้ยง เนื่องในการรับมอบตำแหน่งนายกสมาคมชาวจีนแคะไต้หวันประจำประเทศไทย ได้พบกับเพื่อนทั้งเก่าและเพื่อนใหม่หลายท่าน ในงานมีการขึ้นไปรับตำแหน่งของกลุ่มกรรมการของสมาคมหลากหลายตำแหน่ง ซึ่งเวทีเขาตั้งไว้ค่อนข้างจะสูง กรรมการต้องเดินขึ้นไปบนเวที ด้วยการปีนบันไดที่ค่อนข้างจะชัน 

ซึ่งกรรมการหลายท่านจะเป็นผู้สูงวัยเป็นส่วนใหญ่ ผมเห็นท่านขึ้นๆ ลงๆ บันไดด้วยความยากลำบาก แต่ก็ยังดีที่ทุกท่านยังปลอดภัยดี ถ้าหากมีการพลัดตกหกล้มขึ้นมา คงจะลำบากแย่ เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ มักจะมีอาการของโรคกระดูกพรุนค่อนข้างมาก เหตุผลง่ายๆ เป็นเพราะแต่ละท่านก็ใช้กระดูกของตนเองมาแล้วหลายสิบปี ย่อมมีอาการเสื่อมเป็นธรรมดาครับ

ในวันรุ่งขึ้นในช่วงกลางวัน ได้ไปเลี้ยงข้าวเพื่อนๆ ที่มาจากไต้หวัน ได้มีเพื่อนท่านหนึ่งที่น่าจะรู้จักผมในฐานะของคนเขียนคอลัมน์นี้ ท่านเลยสอบถามผมว่า ระยะหลังๆ มานี้ ท่านมักจะมีอาการหลังค่อมลง คล้ายกระดูกสันหลังคดงอ อยากทราบว่า หากใช้วิธีรักษาแบบ “ทุยหน่าของแพทย์แผนจีน” หลังของท่านจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่? ด้วยความเคารพจริงๆ ผมไม่ใช่หมอ เพียงแต่อ่านบทความงานวิจัยค่อนข้างเยอะ จึงสอดรู้สอดเห็นไปบ้าง 

อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้แต่บอกไปว่า หากใช้วิธีการทุยหน่าของแพทย์แผนจีน การรักษาสำหรับผู้สูงวัย ที่มีปัญหาโรคกระดูกพรุนเป็นส่วนใหญ่ น่าจะไม่ควรทำนะครับ ควรจะไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยการแพทย์ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี เพราะปัจจุบันนี้ทุกๆ โรงพยาบาล ก็จะมีแผนกโรคกระดูกและข้อ(Orthopedic) กันทุกโรงพยาบาล ดังนั้นผมคิดว่าหากเราอายุมากแล้ว ควรต้องระมัดระวังกระดูกกระเดี้ยวตัวเองเข้าไว้ ขืนปล่อยให้หัก การต่อกลับคืนมา จะไม่ง่ายเหมือนเด็กๆ นะครับ

เรามาดูว่าอาการโรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นได้อย่างไร? โรคนี้จะเกิดจากมวลกระดูกของเราได้ลดน้อยลง จึงก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งมักจะเกิดกับสุภาพสตรีในวัยหมดประจำเดือน หรือหากเป็นผู้ชายแก่ๆ อย่างผม ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน  เพราะโรคนี้เกิดจากอัตราการสร้างและการทำลายกระดูกที่ไม่สมดุลกัน 

กล่าวคือ โดยปกติแล้ว ร่างกายมนุษย์จะมีการสร้างและทำลายกระดูกอยู่ตลอดเวลา และมักจะอยู่ในอาการที่สมดุลกัน แต่ก็มีโอกาสที่การสร้างและทำลายมวลกระดูกไม่สมดุล เช่น สุภาพสตรีที่หมดประจำเดือน จะทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงลดน้อยลง ส่งผลให้มีการทำลายกระดูกมากขึ้น และสร้างกระดูกได้น้อยลง มวลกระดูกโดยรวมจึงลดน้อยลง จึงเกิดโรคกระดูกพรุน หรือผู้สูงวัยที่ประสิทธิภาพของการสร้างมวลกระดูกได้ลดลง ก็จะเกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นกันครับ
            
โรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป หากเรามีความระมัดระวังที่ไม่ออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป หรือมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่โลดโผน เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา เพียงแต่โรคนี้อาจจะเกิดโรคอื่นแทรกซ้อน เช่น กระดูกเปราะหรือหักง่าย การเคลื่อนไหวอาจจะเชื่องช้าลง ช่วยเหลือตัวเองลำบาก ไม่เหมือนตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว 

หรือบางท่านก็จะเกิดอาการหลังโกง หลังค่อม ที่แย่กว่านั้นอาจจะมีอาการปอดบวมได้ง่ายกว่าคนปกติ หรือติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ บางท่านก็โลหิตเป็นพิษ หรือหากเป็นผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยติดเตียง ก็จะเกิดอาการเป็นแผลกดทับ จึงต้องมีการพลิกตัวให้บ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับนั่นเองครับ
        
ในครอบครัวผมก็มีผู้สูงอายุ ที่สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน นั่นคือแม่ยายผมเองครับ ท่านมีอายุสูงมากแล้ว ปีนี้ท่านก็อายุสูงถึง 94 ปี ร่างกายท่านก็เริ่มมีโรคประจำตัวมากขึ้นเป็นปกติของผู้สูงวัย ผมได้ให้น้องภรรยาพามาอาศัยอยู่กับผมที่บ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์”  เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา ช่วงมาอยู่ในตอนแรกๆ ร่างกายของท่านจะผอมมากๆ เดินเหินไม่ค่อยไหว 

ภรรยาผมก็บอกให้ผมช่วยบอกน้องๆ ผู้บริบาลว่า ให้ช่วยพาท่านฝึกเดิน สายยางท่ออาหารที่ท่านใส่อยู่ทางจมูก เพื่อฟีดอาหารให้ท่าน ภรรยาผมก็อยากให้เอาออก เพราะไม่อยากเห็นคุณแม่ทรมานมาก ผมก็ได้แต่บอกว่า ให้ใจเย็นๆ เข้าไว้ เรายังไม่ควรให้ท่านฝึกเดินในช่วงนั้น เพราะว่าผมดูอาการของท่านแล้ว ก็เข้าใจได้ว่าท่านต้องมีอาการโรคกระดูกพรุนแน่นอน 

หากปล่อยให้ฝึกเดิน แม้จะมีผู้บริบาลอยู่เคียงข้างโดยตลอด ก็สุ่มเสี่ยงที่จะพลาดได้ หากมีการพลาดแล้วเกิดการพลัดตกหกล้มขึ้นมา กระดูกที่เปราะบางมากๆ อยู่แล้ว ต้องหักอย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องรีบเสริมกล้ามเนื้อ ด้วยการให้ทานโปรตีนและอาหารให้กล้ามเนื้อมีมากกว่านี้ แล้วจึงจะสามารถให้มีการฝึกเดินได้ 
       
ในช่วงแรกๆ ที่ทำการเสริมกล้ามเนื้อ เนื่องจากการให้อาหารทางสายยาง เป็นอุปสรรคอย่างมากในการเสริมโปรตีน แต่หลังจากที่เราได้เริ่มมีการฝึกให้ค่อยๆ ทานอาหารอ่อน และเริ่มเข้าที่แล้ว จึงถอดสายยางออกจากจมูก การเสริมโปรตีนและอาหาร ทำให้ท่านเริ่มมีการตอบสนองที่ดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งวันนี้ได้เห็นท่านเริ่มพัฒนาด้านการเดิน และการพูดได้ดีขึ้นตามลำดับแล้วครับ
      
จากการประสบพบเจอด้วยตนเอง ผมจึงเชื่อว่าอาการเกิดโรคกระดูกพรุนนั้น ผู้สูงวัยทุกคน ที่มีอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป ไม่ควรจะวางใจ หรือทำกิจกรรมเหมือนตอนอายุในวัยกลางคนได้ เราต้องระลึกไว้เสมอว่า กระดูกของเราใช้งานมาหลายสิบปีแล้ว ย่อมเสื่อมเป็นธรรมดา ดังนั้นกิจกรรมใดที่มีความเสี่ยงสูง เลี่ยงได้ควรเลี่ยงนะครับ อย่านึกว่า “...ข้ายังแข็งแรงอยู่......” นะครับ