“นครเฉิงตู-เมืองหลูโจว” กับแนวคิดเขตทดลองการค้าเสรี

29 เม.ย. 2567 | 04:29 น.

“นครเฉิงตู-เมืองหลูโจว” กับแนวคิดเขตทดลองการค้าเสรี : คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3987

พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนามณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ของจีน โดยกำหนดให้ นครเฉิงตู และเมืองหลูโจว เป็นที่ตั้งเขตทดลองการค้าเสรี 

ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลกลางของจีนอนุมัติให้ก่อตั้งพื้นที่เขตการค้าเสรีแห่งใหม่ในจีน เพิ่มอีก 7 แห่ง โดยมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคจีนตะวันตก ได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำหรับ 1 ใน 7 แห่งของเขตการค้าเสรีแห่งดังกล่าว 

เขตทดลองการค้าเสรีทั้ง 7 แห่ง (โดยจัดเป็นเขตทดลองการค้าเสรีกลุ่มที่ 3) ประกอบด้วย มณฑลเหลียวหนิง, มณฑลเจ้อเจียง, มณฑลเหอหนาน, มณฑลหูเป่ย, มณฑลซื่อชวน (เสฉวน), มณฑลส่านซี และมหานครฉงชิ่ง 

ทั้งนี้ เขตการค้าเสรีที่ตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ ได้แก่ มหานครเซี่ยงไฮ้ (เป็นเขตทดลองการค้าเสรีกลุ่มที่ 1) รวมทั้ง เขตทดลองการค้าเสรีกลุ่มที่ 2 ได้แก่ มหานครเทียนจิน (เทียนสิน) มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) และมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) 

โดยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 256 คณะผู้บริหารระดับท้องถิ่นของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ได้ร่างกำหนดเขตพื้นที่สำหรับการก่อตั้งเขตการค้าเสรีมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ไว้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

1.ส่วนแรก คือ เขตทดลองการค้าเสรีนครเฉิงตู กำหนดให้ก่อสร้างขึ้นบริเวณเขตที่เชื่อมกับเขตเศรษฐกิจเกาซิน เขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฟู่ เขตชวงหลิว และเขตชิงไป๋เจียง ครอบคลุมพื้นที่ใช้สอย 100 ตารางกิโลเมตร 

2.ส่วนที่สอง คือ เขตทดลองการค้าเสรีเมืองหลูโจว จะดำเนินก่อสร้างขึ้นในเขตหลงหม่าถ่าน คลอบคลุมพื้นที่ใช้สอย 20 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเมื่อรวมพื้นที่ใช้สอบของเขตการค้าเสรีที่นครเฉิงตูและเมืองหลูโจวแล้วจะมีพื้นที่รวมทั้งหมด  120 ตารางกิโลเมตร

3. นอกจากการกำหนดเขตการก่อสร้างแล้ว คณะผู้บริหารระดับท้องถิ่นของนครเฉิงตู ได้ร่างแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเขตทดลองการค้าเสรีมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ภายใต้นิยาม “รวดเร็ว สะดวก และมีประสิทธิภาพ” โดยมุ่งเน้นด้านต่างๆ ได้แก่ 

(1) ผลักดันการลงทุนจากต่างชาติ (2.) อำนวยความสะดวกในขั้นตอนการลงทุน (3.) พัฒนาระบบบริการและระบบดูแลนักธุรกิจ (4) ตรากฎหมายที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการลงทุน และ (5) สร้างความสัมพันธ์กับต่างชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมภาคการนำเข้าส่งออก เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ก้าวขึ้นสู่เขตการค้าเสรีอย่างเต็มตัวในอนาคต

ข้อสังเกต เขตการค้าเสรีถือเป็นการสะท้อนนโยบายเปิดกว้างอีกระดับหนึ่งของจีน ซึ่งจะมีความพิเศษกว่าเขตสินค้าทัณฑ์บนอื่นๆ ในจีน 

และหากย้อนไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2556 โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของจีน ได้อนุมัติให้ก่อตั้งเขตทดลองการค้าเสรีแห่งแรกขึ้น ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 28 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 
การบูรณาการพื้นที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ เขตสินค้าทัณฑ์บนบริเวณท่าเรือไว่เกาเฉียว ท่าเรือน้ำลึกหยางซาน และ ท่าอากาศยานผู่ตง กล่าวคือ มีนโยบายทางภาษีที่พิเศษกว่า และมีระดับการเปิดกว้างทางการบริหารที่มากกว่า (ภาครัฐลดการแทรกแซงลง) 

โดยแนวคิดการบริหารควบคุมในเขตทดลองการค้าเสรีแห่งนี้ คือ มุ่งเน้นการบริหารวิสาหกิจแทนที่ระบบเดิม ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารสินค้า 

                            “นครเฉิงตู-เมืองหลูโจว” กับแนวคิดเขตทดลองการค้าเสรี

นอกจากนี้ ทางการจีนได้เริ่มดำเนินการทดลองการบริหารดังกล่าวใน 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุน การค้า การเงิน และ ระบบกฎหมายการบริหารงานของภาครัฐ  

อาจกล่าวได้ว่า การก่อตั้งขึ้นของเขตทดลองการค้าเสรีมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) แห่งใหม่นี้ จะเกิดประโยชน์สำหรับนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งรวมถึงนักธุรกิจจากไทยด้วย 

โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศได้วิเคราะห์ว่า นครเฉิงตูจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอนในของจีน ให้มีความเป็นเสรีในด้านการค้า การลงทุนกับต่างชาติมากขึ้น 

ในขณะที่ เมืองหลูโจว จะเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ทางบก ทางทะเล และ ทางแม่น้ำ ซึ่งทั้งสองเมืองสามารถช่วยส่งเสริม และยกระดับการค้าระหว่างประเทศของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ได้อย่างครบวงจร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคตะวันตกของประเทศจีน 

ทั้งนี้ จากสภาพที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ที่ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากประเทศไทย และอยู่ในแผนการเชื่อมโยงภาคตะวันตกของจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง ไปจนถึงยุโรป ภายใต้โครงการริเริ่มเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (The Belt and Road Initiative) 

ดังนั้น ประเทศไทยควรมีการเตรียมการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับจีน ทั้งในด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุน และ โลจิสติกส์ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านความมั่นคงในเชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านที่เป็นรูปธรรมต่อไป

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://finance.sina.com.cn/.../doc-ifyafcyx7487164.shtml )