KEY
POINTS
ปี 2025 โลกต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อสองขั้วมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีนเปิดฉากปะทะทางการค้าอีกระลอก ส่งผลให้เศรษฐกิจ การค้า และตลาดทุนทั่วโลกตึงเครียด
ข้อมูลล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เดือนเมษายน 2025 ระบุว่า สหรัฐฯ และจีนมี GDP รวมกันสูงถึง 49.739 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับ GDP ของอีก 184 ประเทศที่เหลือทั้งโลก
เฉพาะสหรัฐเพียงประเทศเดียว มีขนาดเศรษฐกิจ 30.5 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนอยู่ที่ 19.2 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศอันดับรองลงมาอย่างเยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ล้วนมี GDP อยู่ในช่วง 3-4 ล้านล้านดอลลาร์ และเมื่อรวมประเทศอันดับ 3 ถึง 10 ทั้งหมด ยังมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันไม่ถึง 27 ล้านล้านดอลลาร์
รวม GDP ประเทศอันดับ 3–10 เท่ากับ 26,923 พันล้านดอลลาร์ หรือ 26.9 ล้านล้านดอลลาร์
เมื่อต้นปี 2025 สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้กับจีน โดยกำหนดอัตราเบื้องต้นที่ 34% และปรับเพิ่มอย่างรวดเร็วจนเกิน 100% ในบางกรณี ซึ่งหมายถึงการจัดเก็บภาษีที่สูงกว่าต้นทุนสินค้านำเข้า
จีนตอบโต้ในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ระดับ 10-30% โดยเน้นกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น เกษตรกรรม พลังงาน และชิ้นส่วนอุตสาหกรรม สถานการณ์นี้ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน
9 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ มีกำหนดการประชุมกับผู้แทนระดับสูงของจีนที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เพื่อหารือประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ทวีความรุนแรงตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกแร่ธาตุสำคัญ
คณะผู้แทนจากสหรัฐฯ ประกอบด้วย สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลัง, ฮาวเวิร์ด ลัตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์ และเจมิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ฝ่ายจีนนำโดย เหอลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
ถือเป็นความพยายามรอบใหม่ หลังจากการเจรจาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ณ กรุงเจนีวา ซึ่งบรรลุข้อตกลงชั่วคราวในการลดภาษีระหว่างกันเป็นระยะเวลา 90 วัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์และ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง พูดคุยผ่านโทรศัพท์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้นโยบายภาษี ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเดินทางเยือนกันในอนาคต และให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงจัดการเจรจาเพื่อคลี่คลายความตึงเครียด
ประเด็นสำคัญที่อยู่ในการเจรจาครั้งนี้ ได้แก่ ข้อจำกัดการส่งออกแร่หายาก (Rare Earths) และเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก หลายฝ่ายเฝ้าจับตามองว่าอาจมี "ดีลใหญ่" หรือความคืบหน้าเชิงบวกที่ปูทางไปสู่การพบกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ