ทรัมป์เปิดโต๊ะเจรจาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปูติน “ไม่รีบ” ยุโรปกดดันคว่ำบาตร

20 พ.ค. 2568 | 08:30 น.

โดนัลด์ ทรัมป์ เผย รัสเซีย-ยูเครนเตรียมเริ่มเจรจาหยุดยิงทันที ขณะปูตินรับแต่ยังไม่กำหนดกรอบเวลา ด้านยุโรปเดินหน้ากดดันรัสเซียเพิ่ม ท่ามกลางความกังวลว่าไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม

หลังการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สัญญาณของความพยายามในการยุติสงครามที่ดำเนินมายาวนานกว่า 3 ปีระหว่างรัสเซียกับยูเครนเริ่มปรากฏขึ้น ทรัมป์ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียว่า รัสเซียและยูเครนจะเริ่มต้นการเจรจาเพื่อหยุดยิงทันที โดยเขาได้แจ้งแผนดังกล่าวต่อประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี รวมถึงผู้นำจากสหภาพยุโรป ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และฟินแลนด์ ในการสนทนาร่วมกลุ่มหลังเสร็จสิ้นการหารือกับปูติน

"รัสเซียและยูเครนจะเริ่มต้นการเจรจาทันทีเพื่อเดินหน้าสู่ข้อตกลงหยุดยิง และที่สำคัญกว่านั้นคือการยุติสงคราม" ทรัมป์ระบุ พร้อมกล่าวเสริมที่ทำเนียบขาวว่า "ดูเหมือนจะมีความคืบหน้าบางอย่างเกิดขึ้น"

ทางด้านปูตินเองก็ขอบคุณทรัมป์ที่สนับสนุนให้เกิดการกลับมาเจรจาโดยตรงระหว่างมอสโกและเคียฟอีกครั้ง หลังทั้งสองฝ่ายได้พบกันเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ตุรกี ซึ่งเป็นการเจรจาแบบพบหน้าครั้งแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ปูตินให้สัมภาษณ์เพียงว่า ความพยายามนั้น "โดยรวมแล้วอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง" พร้อมเผยว่ารัสเซียพร้อมจะทำงานร่วมกับยูเครนในการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงสันติภาพในอนาคต

"เราได้ตกลงกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่ารัสเซียจะเสนอและพร้อมเจรจากับยูเครนในเรื่องร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยข้อตกลงสันติภาพในอนาคต" ปูตินกล่าวระหว่างแถลงข่าวที่เมืองโซชิ

แม้การเจรจาที่จะเกิดขึ้นจะถือเป็นพัฒนาการหลังจากความเงียบงันยาวนาน แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณของ "จุดเปลี่ยนสำคัญ" อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง ยุโรปจึงเลือกเดินเกมรุก ด้วยการเตรียมมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย โดยนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ฟรีดริช เมิร์ซ เปิดเผยผ่านโพสต์บนแพลตฟอร์ม X ว่าผู้นำยุโรปตัดสินใจเพิ่มแรงกดดัน หลังฟังรายงานจากทรัมป์เกี่ยวกับบทสนทนากับปูติน

ในขณะที่ยุโรปยกระดับมาตรการ ทรัมป์กลับยังไม่พร้อมเดินหน้าคว่ำบาตรใหม่ โดยให้เหตุผลว่า "ผมคิดว่ายังมีโอกาสที่จะบรรลุบางอย่างได้ และถ้าทำอะไรผิดจังหวะ มันอาจแย่ลงได้เช่นกัน" พร้อมเตือนว่าอาจถอนตัวจากกระบวนการหากไม่มีความคืบหน้า "นี่ไม่ใช่สงครามของผม"

ฝั่งเครมลิน โดยที่ปรึกษายูริ อูชาคอฟ ระบุว่า ทรัมป์และปูตินไม่ได้พูดถึงกำหนดเวลาการหยุดยิง แต่ได้หารือกันถึงการแลกเปลี่ยนนักโทษ 9 คนระหว่างสองประเทศ พร้อมเสริมว่าทรัมป์มองความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียว่า "น่าประทับใจ"

โฆษกเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ กล่าวย้ำว่า การจัดทำร่างข้อตกลงหยุดยิงและสันติภาพจะเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลา "ยังไม่มีกำหนดเวลา และก็ไม่อาจมีได้ ทุกฝ่ายต้องการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด แต่รายละเอียดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ" เขาระบุ

อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดน คาร์ล บิลด์ต์ แสดงความคิดเห็นผ่าน X ว่าการโทรคุยครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของปูติน เพราะเขาสามารถเลี่ยงข้อเรียกร้องให้หยุดยิงทันที และยังเดินหน้ารุกทางการทหารต่อไปควบคู่กับการเจรจา

ขณะที่เซเลนสกีออกมาเปิดเผยว่า ยูเครนและพันธมิตรกำลังหารือการจัดประชุมระดับสูงร่วมกับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอังกฤษ เพื่อผลักดันสันติภาพ โดยเสนอว่าอาจใช้ตุรกี วาติกัน หรือสวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ยังไม่ชัดเจนว่าข้อเสนอนี้จะรวมอยู่ในการเจรจาที่ทรัมป์กล่าวถึงหรือไม่

ทรัมป์ยังเผยเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอแสดงความสนใจเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาที่วาติกัน ซึ่งทางวาติกันยังไม่ออกมาตอบรับหรือแสดงความเห็นใดๆ

ทางเครมลินยืนยันว่า ปูตินและทรัมป์ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการพูดคุยโดยตรงระหว่างผู้นำรัสเซียและยูเครน และเปิดรับข้อเสนอจากวาติกัน แต่ยังไม่มีการตัดสินใจเรื่องสถานที่ที่แน่ชัดสำหรับการเจรจาในอนาคต

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับการโทรของทรัมป์กับผู้นำยูเครนและยุโรปเปิดเผยว่า หลายฝ่าย "ตกตะลึง" กับการที่ทรัมป์ไม่เลือกกดดันปูตินด้วยมาตรการคว่ำบาตร โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน โพสต์เพียงสั้นๆ ว่า "เป็นการสนทนาที่ดี" และ "สหรัฐฯ ควรยังมีบทบาทต่อไป"

ยูเครนและพันธมิตรหลายประเทศยังคงตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัสเซีย โดยมองว่ามอสโกทำเพียงพอให้ทรัมป์ไม่กดดันเพิ่ม แต่ไม่ได้แสดงความตั้งใจที่จะยุติสงครามอย่างแท้จริง

แม้การจัดเจรจาที่อิสตันบูลเมื่อสัปดาห์ก่อนโดยการผลักดันของทรัมป์จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2565 แต่ก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงใดๆ ได้ โดยเฉพาะหลังปูตินปฏิเสธข้อเสนอของเซเลนสกีในการพบปะกันแบบตัวต่อตัว

ปูตินยังคงยืนกรานต่อเงื่อนไขเดิม โดยเฉพาะการถอนกำลังยูเครนออกจาก 4 แคว้นที่รัสเซียอ้างกรรมสิทธิ์ พร้อมเผยว่าร่างบันทึกความเข้าใจที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำจะระบุ "หลักการของการระงับข้อพิพาท และกรอบเวลาในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพที่อาจเกิดขึ้น"

"สิ่งสำคัญสำหรับเราคือการขจัดต้นตอของวิกฤตครั้งนี้" ปูตินกล่าว "เราจำเป็นต้องหาวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเดินหน้าสู่สันติภาพ"