ท่ามกลางกระแสความตึงเครียดระหว่างการปะทะกันของนานาชาติ อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียเป็นจุดสนใจระดับโลกอยู่เสมอ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ระดับโลกอย่าง SIPRI และ Federation of American Scientists (FAS) ชี้ให้เห็นว่า รัสเซียเป็นประเทศที่ครองจำนวนหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก โดยถือครองอยู่ราว 5,580 หัวรบ คิดเป็น 47% ของคลังอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก มากกว่าสหรัฐอเมริกาเล็กน้อย และยังเป็นหนึ่งในสองประเทศที่ครองสัดส่วนรวมกันถึงเกือบ 90% ของอาวุธนิวเคลียร์ทั้งโลก
ในจำนวนนี้ ประมาณ 1,710 หัวรบถูกจัดอยู่ในสถานะ "ประจำการ" หรือสามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยกระจายอยู่ใน "สามเหลี่ยมยุทธศาสตร์นิวเคลียร์" ได้แก่ ขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBMs) ประมาณ 326 ลูก เรือดำน้ำติดขีปนาวุธ 12 ลำที่บรรทุกขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำ (SLBMs) จำนวน 192 ลูก และเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์อีก 58 ลำ
แม้รัสเซียจะหยุดการเผยแพร่ข้อมูลอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการต่อสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2023 แต่เจ้าหน้าที่รัสเซียยืนยันว่า ยังคงปฏิบัติตามข้อตกลง New START ซึ่งมีเป้าหมายในการควบคุมจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ของทั้งสองประเทศให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
รัสเซียยังมีระบบอาวุธนิวเคลียร์ที่ทันสมัยและหลากหลาย อาทิ ขีปนาวุธ RS-24 Yars ที่มีพิสัยการยิงไกลถึง 12,000 กิโลเมตร และสามารถบรรทุกหัวรบที่แยกเป้าหมายได้หลายหัว (MIRVs) ขณะที่ขีปนาวุธ RS-28 Sarmat หรือที่ชาติตะวันตกเรียกกันว่า "Satan 2" ก็มีพิสัยไกลถึง 18,000 กิโลเมตร และกำลังอยู่ในกระบวนการเตรียมเข้าประจำการ
อีกหนึ่งเทคโนโลยีล้ำยุคที่รัสเซียครอบครองคืออาวุธไฮเปอร์โซนิก เช่น "Avangard" ซึ่งเป็นยานร่อนหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึง 32,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมหลบหลีกระบบต่อต้านขีปนาวุธได้แบบเหนือชั้น เสริมด้วย "Kinzhal" ซึ่งเป็นขีปนาวุธอากาศสู่พื้นยิงจากเครื่องบินขับไล่ MiG-31 และ "Tsirkon" ซึ่งเป็นขีปนาวุธยิงจากเรือรบที่มีพิสัยยิง 1,000 กิโลเมตร ครอบคลุมทั้งเป้าหมายทางบกและทางทะเล
สำหรับคลังอาวุธนิวเคลียร์จากเรือดำน้ำ รัสเซียมีขีปนาวุธ Bulava ที่ยิงจากเรือดำน้ำได้ไกลถึง 8,000 กิโลเมตร ส่วนในอากาศ เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ Tu-95MS และ Tu-160 ก็สามารถบรรทุกขีปนาวุธนำวิถี Kh-101 และ Kh-102 ที่มีหัวรบนิวเคลียร์ได้เช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียยังครองคลังอาวุธนิวเคลียร์ "เชิงยุทธวิธี" หรือ "ระยะประชิด" ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรวมถึงหัวรบที่สามารถยิงจากปืนใหญ่ เครื่องบิน และขีปนาวุธพิสัยใกล้ เช่น Iskander-M ที่มีพิสัยยิงราว 500 กิโลเมตร แม้ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธกลุ่มนี้จะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะมากนัก แต่ก็มีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์ป้องกันเชิงภูมิภาคของรัสเซีย
การที่รัสเซียเปิดเผยถึงขีดความสามารถของโอเรชนิก (Oreshnik) ขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นใหม่ของรัสเซียที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้และมีความเร็วสูงถึงมัค 10 หรือประมาณ 2.5–3 กิโลเมตรต่อวินาที โดยมีความสามารถในการบรรทุกหัวรบหลายลูกที่แยกเป้าหมายได้อิสระ (MIRVs) ทำให้ยากต่อการสกัดกั้นด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศ แม้จะถูกใช้งานล่าสุดด้วยหัวรบธรรมดา แต่ก็สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้เช่นกัน ถือเป็นอาวุธยุทธศาสตร์ที่สะท้อนความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีและศักยภาพการโจมตีของรัสเซียในยุคปัจจุบัน
ท่ามกลางความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์นิวเคลียร์เตือนว่า แม้จะไม่มีสัญญาณชัดเจนว่ารัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในเร็ววัน แต่แนวโน้มการเพิ่มจำนวนหัวรบปฏิบัติการและการพัฒนาขีปนาวุธที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในระยะยาว
การถือครองอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียไม่ได้มีเพียงปริมาณ แต่ยังหมายถึงความหลากหลาย ความยืดหยุ่น และความสามารถในการโจมตีได้ทุกมิติ ทั้งจากพื้นดิน ใต้ทะเล และในอากาศ ซึ่งนับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้รัสเซียยังคงเป็นหนึ่งในขั้วอำนาจทางทหารที่โลกต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในทุกย่างก้าว
อ้างอิง: Themoscowtimes, Euronews, Thebulletin