มูดี้ส์ปรับลดเครดิตสหรัฐฯ เหลือ Aa1! หนี้พุ่ง-ภาระดอกเบี้ยสูง

17 พ.ค. 2568 | 04:34 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2568 | 04:38 น.

มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ปรับลดอันดับเครดิตสหรัฐฯ เหลือ Aa1 เป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี โดยชี้ว่าหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ

บริษัท มูดี้ส์ เรทติ้งส์ (Moody’s Ratings) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ จากระดับ Aaa ลงมาอยู่ที่ Aa1 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 โดยให้เหตุผลหลักจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันยังได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตจาก “เชิงลบ” กลับมาเป็น “มีเสถียรภาพ” เพื่อสะท้อนความมั่นใจในทิศทางระยะสั้น

มูดี้ส์ระบุว่า สหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกันอย่างชัดเจน และพบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐสภาในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณรายปีที่รุนแรง รวมทั้งภาระดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ในแง่ตัวเลข มูดี้ส์คาดว่า ภาระหนี้ของรัฐบาลกลางจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 134% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายในปี 2578 จากระดับ 98% ในปี 2567 ส่วนการชำระดอกเบี้ยอาจกินสัดส่วนถึง 30% ของรายได้รัฐบาล เพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2567 และเพียง 9% ในปี 2564

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการธนาคารกรุงเทพ (BBL)ชี้ว่า นี่คือครั้งแรกในรอบ 100 ปี ที่สหรัฐฯ สูญเสียอันดับเครดิต AAA ซึ่งเคยได้รับจากสถาบันจัดอันดับชั้นนำทั้ง S&P’s, Moody’s และ Fitch จนถึงปี 2010

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการธนาคารกรุงเทพ (BBL)

ขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่สอง โดย S&P’s ปรับลดเป็น AA+ เมื่อปี 2011 และ Fitch ลดเป็น AA+ เมื่อปี 2023

สาเหตุสำคัญเกิดจากหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่แตะระดับ 36 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 124% ของ GDP รวมถึงแผนลดภาษีของรัฐบาลชุดก่อนที่เพิ่มภาระหนี้และขาดดุลงบประมาณในระยะยาว ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักวินัยการคลังที่ดี

มูดี้ส์ปรับลดเครดิตสหรัฐฯ เหลือ Aa1! หนี้พุ่ง-ภาระดอกเบี้ยสูง

ดร.กอบศักดิ์ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า รัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐฯ จะสามารถแก้ไขปัญหาการคลังและจัดการ “บ้านการเงินของชาติ” ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้หรือไม่ หรือจะยังเดินหน้าสร้างหนี้ใหม่โดยไม่ลดการใช้จ่ายและไม่เพิ่มรายได้อย่างจริงจัง

หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อฐานะของเงินดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองโลกในอนาคต

ครั้งนี้จึงถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุดสำหรับสหรัฐฯ และระบบการเงินโลก ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาทางออกอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว