เจรจาสันติภาพยูเครน ไร้เงา “ทรัมป์-ปูติน” ส่อเค้าความหวังริบหรี่?

15 พ.ค. 2568 | 04:21 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2568 | 04:22 น.

เจรจาสันติภาพยูเครนครั้งแรกในรอบ 3 ปีเปิดฉากที่ตุรกี แต่ไร้เงา “ทรัมป์-ปูติน” ร่วมโต๊ะ ส่อเค้าความหวังริบหรี่ แม้ต่างฝ่ายเสนอหยุดยิง 30 วัน

แม้ประตูแห่งสันติภาพจะเปิดขึ้นอีกครั้งในอิสตันบูล แต่การหายไปของสองผู้นำระดับโลกอย่าง "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ "วลาดิเมียร์ ปูติน" ประธานาธิบดีรัสเซีย จากวงโต๊ะเจรจาสันติภาพระหว่างมอสโกกับเคียฟในวันพฤหัสบดีนี้ กลับสร้างความผิดหวังและลดทอนความหวังที่จะเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญต่อสงครามยูเครนที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2022

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อปูตินเสนอให้มีการเจรจาโดยตรงกับยูเครนในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยระบุว่าไม่ต้องมีเงื่อนไขเบื้องต้นใดๆ แต่ท้ายที่สุดเมื่อถึงวันนัดหมาย กลับไม่มีชื่อของตนเองปรากฏในรายชื่อคณะผู้แทนรัสเซียที่เดินทางไปร่วมโต๊ะเจรจา ซึ่งประกอบด้วยที่ปรึกษาประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ เมดินสกี้ และรองรัฐมนตรีกลาโหม อเล็กซานเดอร์ โฟมิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงและข่าวกรองระดับสูงอีกหลายราย โดยทั้งเมดินสกี้และโฟมินเป็นบุคคลที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเจรจาชุดก่อนเมื่อช่วงเริ่มต้นสงครามในเดือนมีนาคม 2022

ในฝั่งของสหรัฐฯ แม้ก่อนหน้านี้ทรัมป์จะเปิดเผยว่ากำลังพิจารณาที่จะเข้าร่วมเจรจา แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันในภายหลังว่า "ทรัมป์จะไม่เข้าร่วม" เนื่องจากติดภารกิจการเยือนตะวันออกกลาง 3 ประเทศ โดยส่งคณะผู้แทนระดับสูงนำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ พร้อมด้วยผู้แทนพิเศษ สตีฟ วิตคอฟฟ์ และคีธ เคลล็อก เดินทางไปแทน

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้แสดงท่าทีชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าตนจะเข้าร่วมเจรจาในตุรกีก็ต่อเมื่อปูตินเดินทางมาร่วมด้วย พร้อมท้าทายว่า "หากปูตินไม่กลัว ก็ควรปรากฏตัวที่โต๊ะเจรจา" ซึ่งนอกจากจะเป็นการโยนความท้าทายไปยังรัสเซียแล้ว ยังถูกตีความว่าเป็นการชิงพื้นที่ทางการเมืองต่อหน้าทรัมป์อีกด้วยว่า "ใครกันแน่ที่อยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นจริง"

อย่างไรก็ตาม ในคำปราศรัยผ่านวิดีโอเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา เซเลนสกีระบุว่า ยูเครนยังต้องรอให้สถานการณ์ชัดเจนก่อนว่าใครจะเข้าร่วมเจรจาบ้าง ก่อนจะตัดสินใจว่าจะดำเนินท่าทีเช่นไร พร้อมกล่าวอย่างมีนัยว่า "คำตอบของทุกคำถามเกี่ยวกับสงครามนี้ ทำไมมันถึงเริ่มต้น ทำไมมันยังไม่จบ คำตอบทั้งหมดอยู่ที่รัสเซีย และจุดจบของสงครามนี้ขึ้นอยู่กับโลก"

แม้การประชุมในครั้งนี้อาจยังห่างไกลจากการบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม แต่ความเคลื่อนไหวก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะหาทางยุติสงครามที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

โดยทรัมป์เสนอให้รัสเซียและยูเครนตกลงหยุดยิงชั่วคราว 30 วัน เพื่อเปิดทางสู่การเจรจาที่ยั่งยืน ขณะที่ฝ่ายยูเครนก็สนับสนุนแนวทางหยุดยิงดังกล่าวเช่นกัน เพียงแต่ปูตินยืนกรานว่า ควรเริ่มจากการเจรจาเพื่อตกลงรายละเอียดของการหยุดยิงก่อน

ในอีกมุมหนึ่ง สหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณแข็งกร้าวมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่รัสเซียถูกมองว่าขัดขวางกระบวนการสันติภาพ ทรัมป์กล่าวว่าตนกำลังพิจารณาการใช้มาตรการคว่ำบาตรรองต่อมอสโก เช่น การคว่ำบาตรทางการเงินเพิ่มเติม หรือการคว่ำบาตรต่อประเทศที่ยังซื้อพลังงานจากรัสเซียอยู่

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน อันดรีย์ ซิบิฮา เปิดเผยเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีว่า เขาได้หารือกับรูบิโอเพื่อแบ่งปันวิสัยทัศน์สันติภาพของเซเลนสกี และประสานจุดยืนร่วมกันก่อนเข้าสู่สัปดาห์ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สูง

ข้อเสนอของปูตินในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมายังอ้างอิงถึงผลการเจรจาที่ล้มเหลวในปี 2022 ซึ่งยูเครนเคยได้รับข้อเสนอให้ประกาศความเป็นกลางถาวร เพื่อแลกกับหลักประกันความมั่นคงจากประเทศมหาอำนาจถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ อย่างเบลารุส แคนาดา เยอรมนี อิสราเอล โปแลนด์ และตุรกี แต่เจ้าหน้าที่ในเคียฟยืนกรานเสมอว่าการยอมรับสถานะ "เป็นกลาง" เป็นเงื่อนไขที่ยูเครนไม่อาจยอมรับได้