ราชวงศ์กาตาร์ กำลังตกเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก หลังสำนักข่าว ABC News รายงานว่า กำลังพิจารณามอบเครื่องบินโดยสารสุดหรู Boeing 747-8 มูลค่าราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 13,000 ล้านบาท ให้กับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็น Air Force One ในวาระที่สองของเขา
แม้ข้อเสนอยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ อย่างเป็นทางการ แต่กระแสวิจารณ์ในสหรัฐฯ เริ่มปะทุ โดยเฉพาะจากพรรคเดโมแครตที่มองว่าอาจเข้าข่าย “ของขวัญจากต่างชาติ” ที่ละเมิดจริยธรรมและสะท้อน “อิทธิพลข้ามชาติในระดับพรีเมียม”
ประเทศเล็ก ๆ บนปลายคาบสมุทรที่ยื่นออกไปในอ่าวเปอร์เซีย แต่กาตาร์กลับกลายเป็นหนึ่งในชาติที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกภายในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ
กาตาร์มีประชากรอาศัยอยู่ราว 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้นที่เป็นพลเมืองกาตาร์โดยแท้ ที่เหลือคือแรงงานต่างชาติจากทั่วโลกที่ไหลเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
รายงานจาก IMF คาดว่าในปี 2025 กาตาร์มี GDP ต่อหัว (PPP) สูงถึง 118,760 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับ 6 ของโลก สะท้อนระดับความมั่งคั่งของประชาชนกาตาร์ที่สูงกว่าสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง
เศรษฐกิจกาตาร์คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.1% ระหว่างปี 2023 ถึง 2025 จากรายได้ที่เกิดจากการจัดงานระดับนานาชาติ ตามรายงานของบริษัทวิจัยและข้อมูล GlobalData ที่เผยแพร่
งบประมาณมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ที่กาตาร์ใช้ไปเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างสิ่งใหม่ ๆ การขยายแหล่งก๊าซ North การวางแผนจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 2030 และโครงการต่าง ๆ เพื่อกระจายเศรษฐกิจให้พ้นจากการพึ่งพาพลังงานไฮโดรคาร์บอน ได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนที่มีศักยภาพ
กาตาร์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในปี 2022 และคาดว่าจะยังคงอยู่ในปี 2023 ตามรายงานล่าสุดของ GlobalData เรื่อง "รายงานแนวโน้มเศรษฐมหภาค: กาตาร์
ปี 2021 และ 2022 ประเทศในอ่าวแห่งนี้มีดุลเกินอย่างมีนัยสำคัญทั้งในด้านการคลังและบัญชีเดินสะพัด ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ ความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ระหว่างรัสเซียและยูเครนยังทำให้กาตาร์สามารถเสริมความแข็งแกร่งในฐานะผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ของโลก เนื่องจากประเทศในยุโรปหยุดพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย
ปี 2023 มีกำหนดจัดงานระดับนานาชาติหลายงานในกาตาร์ รวมถึงฟุตบอลเอเชียนคัพ (AFC Asian Cup), ฟอร์มูลาวัน (Formula 1), งานแสดงยนตรกรรมเจนีวา (Geneva International Motor Show) และงาน Expo 2023 โดฮา
ตามความเห็นของ Maheshwari Bandari แห่ง GlobalData ด้านการวิจัยเศรษฐกิจ งานเหล่านี้ คาดว่าจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอุปสงค์ภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว
กองทุนความมั่งคั่งแห่งกาตาร์
เบื้องหลังความมั่งคั่งระดับโลกของกาตาร์ มีชื่อของ “Qatar Investment Authority” หรือ QIA กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่เปรียบเสมือนกระเป๋าเงินขนาดมหึมาของรัฐ
ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 โดย ชีค ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ธานี อดีตเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ QIA ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อภารกิจสำคัญคือ บริหารรายได้ส่วนเกินจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ของประเทศ พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เพื่อลดการพึ่งพาราคาพลังงานโลก
จากรายงานล่าสุด QIA มีมูลค่าทรัพย์สินรวมมากกว่า 445,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลงทุนกระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร พลังงาน แบรนด์หรู และกีฬา
ภายใต้ QIA ยังมีบริษัทย่อยที่สำคัญอย่าง Qatar Holding LLC ซึ่งรับหน้าที่บริหารกองทุนสำรองของรัฐโดยตรง ถือหุ้นในธนาคารหลักของประเทศ เช่น Qatar National Bank (50%), Qatar Islamic Bank (16.67%), และ Ubac Curaçao NV (1.35%)
ที่น่าสนใจคือ QIA ยังเป็นเจ้าของบริษัท Qatar Sports Investments (QSI) ซึ่งแฟนฟุตบอลทั่วโลกคงคุ้นชื่อดี เพราะคือเจ้าของสโมสรยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศส ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง (PSG)
การแข่งขันฟุตบอลโลก FIFA ปี 2022
กาตาร์ได้ลงทุนอย่างมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างระบบรถไฟใต้ดินสมัยใหม่ ขยายสนามบิน และสร้างท่าเรือ ถนน ระบบรถไฟ โรงแรม และอาคารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์แห่งใหม่
ดีลอยท์ เปิดเผยว่า กาตาร์ทุ่มทุนกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ในโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่ชนะประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก และใช้เงินประมาณ 6,500 ล้านดอลลาร์ สร้างสนามกีฬา 8 แห่ง ทั้งทุ่มทุนเงินอีกหลายพันล้านดอลลาร์ สร้างรถไฟใต้ดิน สนามบินแห่งใหม่ สร้างถนน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เพื่องานบอล
การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของกาตาร์คาดว่าจะอยู่ที่ 3% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.1% และการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนที่แท้จริงคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4% ในปีน
ประมาณ 35.2% ของมูลค่าเพิ่มขั้นต้น (GVA) ในปี 2022 มาจากภาคการทำเหมือง การผลิต และสาธารณูปโภค รองลงมาคือภาคการก่อสร้างที่ 12.6% และภาคค้าส่ง ค้าปลีก และโรงแรมที่ 9.1% ตามข้อมูลของ GlobalData
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของบริษัทวิจัยและข้อมูลดังกล่าว กาตาร์ถูกจัดอยู่ในประเภทประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และอยู่ในอันดับที่ 33 จากทั้งหมด 153 ประเทศในดัชนีความเสี่ยงของประเทศ (GlobalData Country Risk Index) ไตรมาส 3 ปี 2022