กระแสสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มผ่อนคลายลง หลายชาติในอาเซียนได้นับหนึ่งการเจรจากับสหรัฐฯ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย แม้กระทั่งกัมพูชาที่ได้คิวเจรจาแล้ว แต่ประเทศไทยยังไร้วี่แวว
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศษสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ฐานทอล์ค” ออกอากาศทางช่องเนชั่นที่วี 22ว่า แม้จีนและสหรัฐฯ จะเลื่อนการเก็บภาษีสินค้าระหว่างกันออกไป 90 วัน แต่ 90 วันของจีนกับสหรัฐฯ ไม่เท่ากับ 90 วันของไทย
โดยสินค้าส่งออกของไทยจะเริ่มโดนภาษีสูงถึง 36% ตั้งแต่ 9 กรกฎาคมนี้ ขณะที่สินค้าจากจีนยังเสียภาษีเพียง 10% ไปจนถึง 14 สิงหาคม
“ช่วงเวลาที่ควรเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลขายดีของอเมริกา ซึ่งสินค้าที่จะไปถึงสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 นั่นแปลว่าจะต้องเริ่มสั่งตั้งแต่ปลาย ไตรมาส 2 หรือ ไตรมาส 3 แต่ในไตรมาส 3 ถ้าไทยยังไม่เจรจายังไม่ทำอะไรเลย ไทยอาจจะโดนกำแพง ภาษี 36% ในขณะที่สินค้าจีนเข้าสหรัฐฯ ภาษี แค่ 10% เท่านั้น จีนยังได้เปรียบเราในเกมนี้ ” ดร.ปิติกล่าว
1. กำแพงภาษีสหรัฐฯสูงขึ้น ทำไทยสูญเสียตลาด
สินค้าจากไทยต้องเผชิญกับกำแพงภาษีที่สูงขึ้นในสหรัฐ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และเสี่ยงต่อการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา
2. จีนหันไปนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯแทนไทย
ภายใต้เงื่อนไขการเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐ จีนมีแนวโน้มต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร พลังงาน และอาหาร ซึ่งเดิมทีไทยเคยส่งออกไปยังจีน นั่นหมายถึงไทยอาจสูญเสียตลาดจีนเพิ่มอีกหนึ่งตลาด
3. ประเทศที่เจรจากับสหรัฐฯสำเร็จแย่งตลาดจากไทย
ช่วงระยะเวลา 90 วันที่ทรัมป์เปิดให้ประเทศต่าง ๆ เจรจา หากบางประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯก่อนเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม ก็จะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า และกลายเป็นผู้แย่งชิงตลาดที่ไทยเคยมีในสหรัฐ
4. สินค้าเหลือในตลาดโลก ทำไทยต้องแข่งขันหนักขึ้น
ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯได้ จะระบายสินค้าสู่ตลาดโลก ทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ไทยต้องแข่งขันในตลาดส่งออกอย่างรุนแรง และยังอาจต้องเผชิญกับสินค้านำเข้าราคาถูกที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ
และอีก 1ผลกระทบด้านการลงทุน เนื่องจากเป้าหมายสูงสุดของสหรัฐฯภายใต้นโยบายนี้ ไม่ได้มีแค่การปกป้องตลาดภายใน แต่ยังต้องการดึงการลงทุนกลับประเทศ เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน ดังนั้น นักลงทุนที่เคยใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนแผนย้ายฐานกลับไปยังสหรัฐฯเอง ส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสด้านการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว
ดร.ปิติเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ในการจัดทีมเจรจา ไม่มีแผนอย่างประเทศเพื่อนบ้าน ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และที่น่ากังวลคือยังไม่สามารถตอบได้ว่าใครคือหัวหน้าทีม ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ
“สหรัฐฯ ต้องการเจรจากับคนที่สามารถ make decision ได้ทันที ไม่ใช่ต้องกลับไปถาม สทร. หรือหน่วยงานอื่นก่อน เพราะฉะนั้นภาพความไม่แน่นอนของการเมืองภายใน ยิ่งทำให้เราเสียแต้มต่อ” ดร.ปิติกล่าว
ในขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา ต่างได้รับคิวเจรจากับสหรัฐฯ แล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีท่าทีใด ๆ ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการเริ่มลดความเชื่อมั่น อย่างเวียดนามมีความพร้อมสูง ทั้งด้านยุทธศาสตร์การเจรจา การมีข้อตกลง FTA มากกว่า 50 ฉบับ การเมืองนิ่ง และมีแรงงานพร้อม
ดร.ปิติเสนอว่า ประเทศไทยควรปรับแนวทางการวางยุทธศาสตร์การเจรจาใหม่ โดยเปลี่ยนจากการใช้ประเด็นการค้าและการลงทุนเป็นแต้มต่อ มาใช้ “ประเด็นด้านความมั่นคง” ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สหรัฐอเมริกาไม่อาจมองข้าม
สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นการปะทะกันระหว่างมหาอำนาจผ่านเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งประเทศเล็กอย่างไทยมักได้รับแต่ผลกระทบทางลบ ดังนั้น เราต้องถอยออกจากเวทีการค้าและการลงทุน แล้วหันมาใช้ข้อได้เปรียบที่แท้จริงของเราคือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
“แทนที่ไทยจะพยายามใช้เรื่องการค้าต่อรองกับสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว ควรหันมาใช้ ประเด็นความมั่นคงเป็นเครื่องต่อรองแทน เพราะไทยมีบทบาทยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ไทยคือพื้นที่ซ้อมรบใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานทูตสหรัฐฯ ใหญ่ติดอันดับโลก และสหรัฐฯ เพิ่งลงทุนเป็นหมื่นล้านบาทในการปรับปรุงสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาในเชียงใหม่ สะท้อนว่าเขาทิ้งเราไม่ได้” ดร.ปิติกล่าว
สุดท้าย ดร.ปิติเสนอว่า รัฐบาลควรตั้ง “ทีมไทยแลนด์” ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากมิติ ทั้งการต่างประเทศ ความมั่นคง ภูมิรัฐศาสตร์ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์แบบ เป็นแพ็คเกจ ทั้งการเจรจากับสหรัฐ จีน การหาแหล่งตลาดใหม่ และการเล่นเกมการเมืองในอาเซียน ไทยต้องเลิกเดินเกมคนเดียว ต้องเดินเป็นทีม มีท่าที มีเงื่อนไข และมีจุดแข็งที่ใช้ได้จริงในการเจรจา