ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มลดบทบาทของสหรัฐฯ ในทวีปแอนตาร์กติกา ด้วยการประกาศตัดงบประมาณครั้งใหญ่ในการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์และโลจิสติกส์ของประเทศในดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้
รัฐบาลทรัมป์ได้ลดงบประมาณลงอย่างมีนัยสำคัญสำหรับทั้งสถานีวิจัยและลอจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐในแอนตาร์กติกา ได้แก่ สถานีแมคเมอร์โด (McMurdo) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (National Science Foundation – NSF) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้ทุนวิจัยในพื้นที่
มีแนวโน้มว่าจะมีการตัดงบเพิ่มเติม หากดำเนินการตามแผนที่ประกาศไว้ บทบาทของสหรัฐในด้านวิทยาศาสตร์และการปรากฏตัวในแอนตาร์กติกาจะลดลงอย่างรุนแรง ในช่วงเวลาที่จีนกำลังขยายบทบาทในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมาก
นับตั้งแต่ปี 1958 สหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านการทูต วิทยาศาสตร์ในทวีปแอนตาร์กติกา การลดบทบาทในพื้นที่นี้จะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความสามารถในการกำหนดทิศทางของภูมิภาคในอนาคต
ทำให้แอนตาร์กติกาปลอดจากความขัดแย้งทางทหาร
ปลายทศวรรษ 1950 สหรัฐได้สร้างอิทธิพลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในแอนตาร์กติกาอย่างต่อเนื่อง โดยในสมัยประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ สหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่มและเป็นเจ้าภาพในการเจรจาที่นำไปสู่การจัดทำ “สนธิสัญญาแอนตาร์กติกา” ปี 1959
สหรัฐฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดหลักการพื้นฐานของสนธิสัญญา เช่น การใช้ทวีปแอนตาร์กติกาเพื่อวัตถุประสงค์ทางสันติเท่านั้น และการห้ามกิจกรรมทางทหารและการทดลองอาวุธนิวเคลียร์
บริหารจัดการแอนตาร์กติการ่วมกัน
สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากรอบกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมกิจกรรมของมนุษย์ในทวีปแอนตาร์กติกา
ช่วงทศวรรษ 1970 การทำประมงที่ไม่มีการควบคุมในมหาสมุทรใต้ก่อให้เกิดความกังวลอย่างรุนแรงต่อสัตว์กินคริลล์ โดยเฉพาะวาฬที่จำนวนลดลงอย่างมาก สหรัฐฯ ได้ร่วมกับประเทศสมาชิกสนธิสัญญาแอนตาร์กติกาผลักดันให้เกิด “อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพทางทะเลแอนตาร์กติกา” (CAMLR) ซึ่งลงนามในปี 1980 โดยเน้นการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรใต้ มากกว่าการทำประมงสูงสุด
สหรัฐฯ ยังมีบทบาทใน “พิธีสารว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม” ปี 1991 ซึ่งรวมถึงข้อห้ามในการทำเหมือง และการกำหนดให้แอนตาร์กติกาเป็น “เขตสงวนธรรมชาติเพื่อสันติภาพและวิทยาศาสตร์”
สหรัฐฯ ดำเนินงานสถานีวิจัยถาวร 3 แห่งในแอนตาร์กติกา ได้แก่ Palmer, Amundsen-Scott และ McMurdo McMurdo เป็นสถานีวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในแอนตาร์กติกา ส่วนสถานี Amundsen-Scott ตั้งอยู่ที่ขั้วโลกใต้ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของทวีป และเป็นจุดที่เส้นเขตอ้างสิทธิ์ของทุกประเทศมาบรรจบกัน จึงมีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์ ยุทธศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
สหรัฐฯ มีนักวิทยาศาสตร์ในแอนตาร์กติกามากกว่าชาติใด
การวิจัยของสหรัฐฯ มีบทบาทนำในการทำความเข้าใจบทบาทของแอนตาร์กติกาในระบบภูมิอากาศโลก และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต รวมถึงการศึกษาระบบนิเวศและประมงในมหาสมุทรใต้
การวิจัยเหล่านี้ยังเป็นฐานให้กับนโยบายสำคัญ เช่น แบบจำลองการจัดการการจับคริลล์อย่างยั่งยืน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการประมงคริลล์ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชากรเพนกวิน แมวน้ำ และวาฬ
สหรัฐฯ ยังสนับสนุนการจัดตั้งเขตคุ้มครองทางทะเลในมหาสมุทรใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่คุ้มครอง Ross Sea Region ที่เสนอโดยสหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ ซึ่งถือเป็นเขตคุ้มครองทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อิทธิพลของสหรัฐฯ ในแอนตาร์กติกาขยายออกไปไกล
ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ มีโครงการด้านอวกาศที่ตั้งอยู่ในแอนตาร์กติกา และพลเมืองสหรัฐฯ ก็เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการท่องเที่ยวในพื้นที่ขอบเขตที่แท้จริงของการตัดงบภายใต้รัฐบาลทรัมป์ยังไม่ชัดเจนทั้งหมด แต่หากดำเนินการตามแผน จะถือเป็นผลกระทบครั้งใหญ่ไม่เพียงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในแอนตาร์กติกา แต่รวมถึงผลประโยชน์ของหลายประเทศด้วย
สหรัฐฯ มีเครือข่ายลอจิสติกส์ที่มีทรัพยากรมากที่สุดในแอนตาร์กติกา ทั้งการขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และการสนับสนุนภาคสนามทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมักถูกใช้ร่วมกับประเทศอื่น เช่น นิวซีแลนด์ที่พึ่งพาสหรัฐฯ ในการส่งเสบียงอาหารและเชื้อเพลิง รวมถึงการขนส่งทางอากาศและทางทะเลในการดำเนินงานที่ Ross Sea
นอกจากนี้ โครงการวิจัยร่วมกับสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดงบ เช่นเดียวกับรายงานว่ามีการตัดงบในโครงการด้านภูมิอากาศของ NASA และ NOAA ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ดาวเทียมในการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับแอนตาร์กติกาและมหาสมุทรใต้ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียที่ต้องใช้ข้อมูลอุณหภูมิมหาสมุทร สภาพน้ำแข็ง และข้อมูลอื่นในการวิจัยภูมิอากาศและพยากรณ์อากาศ
จีนแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะเป็นผู้เล่นหลักทางภูมิรัฐศาสตร์ในแอนตาร์กติกา
การขยายบทบาทในภูมิภาคนี้อย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนมีสถานีวิจัย 5 แห่งในแอนตาร์กติกา และกำลังก่อสร้างสถานีฤดูร้อนแห่งที่ 6 ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2027 นอกจากนี้ จีนยังปฏิบัติการเรือตัดน้ำแข็ง 2 ลำ เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินปีกตรึง พร้อมทั้งกำลังสร้างเรือลากอวนจับคริลล์ขนาดใหญ่ ทั้งจีนและรัสเซียมีบทบาทมากขึ้นในการคัดค้านมาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การจัดตั้งเขตคุ้มครองทางทะเล
เมื่อบทบาทของสหรัฐฯ ลดลง ประเทศอื่นจึงมีโอกาสมากขึ้นในการกำหนดทิศทางทางภูมิรัฐศาสตร์ของแอนตาร์กติกา ซึ่งรวมถึงแรงกดดันให้ยุติการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินมายาวนาน การผลักดันให้จับปลาและคริลล์ (สัตว์จำพวกกุ้ง ทะเลขนาดเล็ก) มากขึ้น และอาจรวมถึงการกลับมาเปิดประเด็นการทำเหมืองในภูมิภาคนี้อีกครั้ง