ปธน.เวียดนามประกาศลาออก หลังครองอำนาจเพียงปีเดียว

20 มี.ค. 2567 | 17:10 น.

การเมืองเวียดนามป่วนอีกรอบ หลัง "หวอ วัน เถือง" ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะเป็นไปตามคาด แต่การลาออกท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ทำให้การเมืองเวียดนามไร้เสถียรภาพ และต้องเฟ้นหาผู้ที่จะมาเป็นปธน.คนที่สามในเวลาไม่ถึง 1 ปี

ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ผู้นำเวียดนาม ประกาศลาออกตามคาด หลังเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 1 ปีกว่าๆ เท่านั้น การลงจากตำแหน่งครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลาง นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ที่เข้มงวดในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทำให้มีการปลดจากตำแหน่ง รวมทั้งการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมาก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายเถืองถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเรื่องนี้อ้างอิงจากแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันพุธ (20 มี.ค.) แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเขากระทำผิดในเรื่องใด

นายหวอ วัน เถือง ปัจจุบันอายุ 54 ปี นับเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่ที่เวียดนามฟื้นตัวจากสงครามช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1970

เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเวียดนามเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา (2566) หลังจากที่ 2 เดือนก่อนหน้านั้น นายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ประกาศลาออกอย่างกระทันหันเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง จากกรณีข่าวฉาวเรื่องการทุจริตในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19

นายหวอ วัน เถือง ในวันเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเวียดนามเมื่อปี 2566 (ภาพข่าวซินหัว)

รอยเตอร์รายงานว่า เวียดนามจำเป็นต้องเฟ้นหาประธานาธิบดีคนที่ 3 ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ปี หลังการลาออกของนายเถือง และก่อนหน้านั้นก็คือนายเหงียน ซวน ฟุก สถานการณ์เช่นนี้อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของเวียดนามที่พึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) เป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน เวียดนามเองก็มีบทบาทสำคัญต่อบริษัทต่างชาติในฐานะที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของบริษัทข้ามชาติ อย่างซัมซุงและแอปเปิล อิงค์.

ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีเวียดนามถือเป็นตำแหน่งสูงสุดอันดับ 3 ของประเทศ และหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งด้านพิธีการ

เชื่อการลาออก ไม่กระทบนโยบายสำคัญ

นักวิเคราะห์มองว่าการเปลี่ยนตัวผู้นำใหม่ของเวียดนามจะไม่กระทบต่อนโยบายสำคัญของประเทศ รวมถึง “การทูตไผ่ลู่ลม” (bamboo diplomacy) ของรัฐบาลเวียดนาม ที่มุ่งเป้ารักษาความสัมพันธ์อันดีทั้งกับสหรัฐอเมริกาและจีนในเวลาเดียวกัน

หลังการลาออกของนายเถือง กระบวนการต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐสภาเวียดนามจะประชุมนัดพิเศษในวันพฤหัสบดีนี้ (21 มี.ค.) เพื่อยอมรับการลาออกของนายเถือง จากนั้นคาดว่าจะมีการแต่งตั้งรักษาการประธานาธิบดีเวียดนาม จนกว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะตัดสินใจเลือกผู้นำคนใหม่ได้

โดยทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ รองประธานาธิบดีหวอ ถิ อันห์ ซวน (Vo Thi Anh Xuan) ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปีที่ผ่านมาเช่นกัน ในช่วงที่อดีตปธน.เหงียน ซวน ฟุก ลาออกอย่างกะทันหัน นายซวนก็เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการ ก่อนที่พรรคจะใช้เวลา 1 เดือนครึ่งในการเลือกนายเถืองเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ นายซวนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายเหงียน ฟู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจสูงสุดทางการเมืองของเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีตัวเต็งคนอื่นๆ ที่มีโอกาสจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเวียดนามเช่นกัน อาทิ นายโท ลัม (To Lam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนาม และนายเจือง ถิ มาย (Truong Thi Mai) นักการเมืองอาวุโสในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม