“หนังเทียม”จากต้นกระบองเพชร และแนวทางต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย

01 ก.พ. 2567 | 17:05 น.

หนังเทียมจากพืช (plant-based leather) เป็นอีกนวัตกรรมที่ทำให้สินค้าการเกษตรเกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้เกษตรกร และตอบโจทย์อุตสาหกรรมแฟชั่นยุคใหม่ที่เปิดโอกาสให้กับ “วัสดุทางเลือก” ได้เป็นอย่างดี  

 

มาร์เต กาซาเรซ และเอเดรียน โลเปซ นักลงทุนรายย่อยชาวเม็กซิกัน ผู้ก่อตั้ง บริษัท Adriano Di Marti ในรัฐซากาเตกัส ประเทศเม็กซิโก ใช้เวลาถึง 2 ปี ในการคิดค้นและพัฒนา เส้นใยสังเคราะห์จากต้นกระบองเพชร สายพันธุ์ “Nopal” จนกระทั่งปี ค.ศ. 2019 ทั้งคู่ประสบความสำเร็จในการผลิต หนังเทียม (plant-based leather) จากเส้นใยต้นกระบองเพชรภายใต้ชื่อ แบรนด์ Desserto

ต้นกระบองเพชร Nopal พบมากในเมืองกวาดาลาฮารา ในรัฐฮาลิสโก ของประเทศเม็กซิโก กระบองเพชรสายพันธุ์นี้เป็นพืชที่มักปลูกเพื่อฟื้นฟูหน้าดิน เนื่องจากสามารถเติบโตและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยได้ดี นอกจากนี้ ยังแทบไม่ต้องใช้น้ำในการเพาะปลูก จึงตอบโจทย์ได้ดีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

ต้นกระบองเพชร Nopal พบมากในเมืองกวาดาลาฮารา รัฐฮาลิสโก ประเทศเม็กซิโก

ที่สำคัญคือ การปลูกต้นกระบองเพชรยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนให้โลก การผลิตหนังเทียมจากต้นกระบองเพชรนั้นจะใช้ใบที่แก่ที่สุดของต้น นำมาทำความสะอาดและบดให้เป็นผง นำไปผึ่งแดดประมาณ 3 วัน จากนั้นนำไปสกัดโปรตีนและไฟเบอร์ ก่อนผสมสารประกอบอื่น ๆ เพื่อทำเป็นแผ่นหนังเทียม และเคลือบเพื่อให้มีผิวสัมผัสที่ดีพร้อมใช้งาน

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์หนังเทียมที่ได้มีความทนทาน มีอายุใช้งานได้นานถึง 10 ปี มีความยืดหยุ่น ผิวสัมผัสนุ่ม น้ำหนักเบา และยังกันน้ำได้ดีอีกด้วย

เมื่อมองในแง่สิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์หนังเทียมที่ผลิตจากเส้นใยพืช ยังมีคุณสมบัติย่อยสลายได้ง่าย และเมื่อวัสดุหลักมาจากพืช ไม่ใช่หนังสัตว์ จึงลดการทำปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอน นอกจากนี้ หนังเทียมจากพืชยังเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Vegan friendly เนื่องจากไม่ได้ทำร้ายหรือเบียดเบียนสัตว์เพื่อเอาหนัง

สองนักลงทุนชาวเม็กซิกัน ผู้ก่อตั้ง บริษัท Adriano Di Marti เจ้าของแบรนด์ Desserto  (ภาพจาก Desserto)

กระเป๋าถือใบนี้ ทำจากหนังเทียมเส้นใยต้นกระบองเพชร

หนังเทียมจากต้นกระบองเพชรกับผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์หนังเทียมจากต้นกระบองเพชรของแบรนด์ Desserto ได้ร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลก เช่น Onitsuka Tiger, Adidas, H&M, Givenchy, Mercides-Benz และ BMW เป็นต้น นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกหลากหลายประเภท เช่น กระเป๋า รองเท้า อุปกรณ์ภายในรถยนต์ และแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์

หนังเทียมจากต้นกระบองเพชร ทางเลือกใหม่ในโลกแฟชั่นและการออกแบบ

สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศการเกษตร และมีขยะทางการเกษตรปริมาณมาก หากสามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งเหลือใช้และขยะการเกษตรประเภทเศษซากพืชเหล่านั้น ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างเม็ดเงินให้กับภาคการเกษตรของไทย ดังเช่นที่ได้มีการนำเส้นใยจากใบสับปะรดมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และใช้เป็นวัสดุสำหรับเสริมแรงพลาสติก ยาง และเรซิน เป็นต้น

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ