เจโทรบุกหนักตจว. ดันอาหารญี่ปุ่นแชมป์ซอฟต์พาวเวอร์อาหารต่างชาติในไทย

10 ม.ค. 2567 | 10:24 น.

อาหารญี่ปุ่น ยังคงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงอานุภาพของประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารการกินของแดนอาทิตย์อุทัยให้แพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการส่งออกวัตถุดิบ สินค้าเกษตรและประมงของญี่ปุ่น ได้เป็นอย่างดี

 

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ ในฐานะกลไกหลักในการ ส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่นในต่างแดน แถลง ผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในอันดับ Top10 ประจำปี 2566 วันนี้ (10 ม.ค.) ระบุว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะในต่างจังหวัดนั้น มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เชื่อว่ายังมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก และยังไม่น่าจะถึงจุดอิ่มตัวในเร็ววัน

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทร้านราเมง ร้านสุกี้ยากี้ ชาบูชาบู ร้าน Izakaya และร้านเนื้อย่าง มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้านซูชิมีจำนวนลดน้อยลง จากการแข่งขันที่สูงและลักษณะเฉพาะของร้านซูชิที่ต้องใช้วัตถุดิบสดใหม่เสมอ ซึ่งเป็นความท้าทายพิเศษในการบริหารจัดการ

การสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2566 พบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้น 426 ร้าน หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ปี 2565 มี 5,325 ร้าน) โดยมีจำนวนร้านเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ 5 จังหวัดปริมณฑล (ประกอบด้วย นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) และต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดปริมณฑลและเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ แถลงผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี 2566

ในเชิงสถิติ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2561 และปี 2566 พบว่า

  • มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น  1.5 เท่า
  • ใน 5 จังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า
  • และในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า

การกระจายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่นในจังหวัดต่างๆของประเทศไทย (ขอบคุณข้อมูลจาก เจโทร กรุงเทพฯ)

โดยรวมทั้งประเทศ พบว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าในปี 2566 โดยเมื่อแยกตามประเภทร้านอาหารพบว่า มีประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นหลายประเภท ที่มีจำนวนร้านขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลายท่านให้ความเห็นว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมในประเทศไทยต่อไป และคาดว่าในอนาคตจะมีร้านอาหารญี่ปุ่นหลากหลายรูปแบบมากขึ้น และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมาก เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา สงขลา ขอนแก่น ฯลฯ  แม้จะมีอุปสรรคบางประการ เช่น การปรับตัวให้เข้ากับความต้องการและเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของผู้บริโภคชาวไทย และการนำเสนอเมนูอาหารญี่ปุ่นที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค เป็นต้น

วัฒนธรรมอาหารการกินของญี่ปุ่นยังคงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงอิทธิพล

ซอฟต์พาวเวอร์ที่ไม่เสื่อมมนตร์ขลัง

นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นในต่างจังหวัดของประเทศไทย การเชิญชวนให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดมาใช้วัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นให้มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ เจโทร กรุงเทพฯ ดำเนินกิจกรรมเชิงรุกในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2566 โดยที่ผ่านมาได้จัดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้าปลีกในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นการจัดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจเฉพาะในต่างจังหวัดครั้งแรกของเจโทร กรุงเทพฯ

แนวโน้มการส่งเสริมและทำประชาสัมพันธ์ในปีนี้ (2567) ยังคงจะรุกคืบมุ่งเน้นในต่างจังหวัดต่อไป เนื่องจากร้านอาหารญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นไปสู่นานาประเทศทั่วโลก พร้อมกันนั้น ยังมีบทบาทขยายการส่งออกผลผลิตเกษตร ป่าไม้ ประมงและสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น

“ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เจโทร กรุงเทพฯ ได้จัดแคมเปญประชาสัมพันธ์วัตถุดิบอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อแคมเปญ “Made in JAPAN on tour วัตถุดิบญี่ปุ่นแท้ ยกญี่ปุ่นมาไว้ใกล้บ้าน” ในทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจโทรฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าการเพิ่มจำนวนของร้านอาหารญี่ปุ่นจะส่งผลให้การนำเข้าและการค้าวัตถุดิบอาหารจากประเทศญี่ปุ่นขยายตัวต่อไป”

หอยโอตาเตะ หรือหอยเชลล์ญี่ปุ่น อาหารยอดนิยมจากแดนอาทิตย์อุทัย

ทั้งนี้ ในบรรดาสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นประเภทสินค้าเกษตร ประมง และอาหาร มายังประเทศไทยนั้น (ข้อมูล ณ ม.ค. ถึง พ.ย. 2566) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 46,500 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 8 ของสินค้าประเภทนี้ของญี่ปุ่น รองจากตลาดใหญ่สุดคือ จีน และถัดมาคือ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์    

ส่วนประเภทของอาหารและวัตถุดิบด้านเกษตรและประมง ที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นมากที่สุด 10 อันดับแรกนั้น (ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2565) ได้แก่ ปลาอิวาชิ (ปลาซาดีน) หนังหมู ปลาซาบะ เนื้อวัว ปลาคัตสุโอะและปลาจำพวกมากุโระ ซอสปรุงรส เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปลาแซลมอน-ปลาเทราท์ หอยเชลล์ คาเวียร์และอื่นๆ   

ประเทศไทยนั้นถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นติดอันดับ Top10 ของโลก โดยประเทศที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่

  1. จีน มี 78,760 ร้าน  
  2. สหรัฐอเมริกา 26,040 ร้าน
  3. เกาหลีใต้ 18,210 ร้าน
  4. ไต้หวัน 7,440 ร้าน
  5. เม็กซิโก 7.120 ร้าน
  6. ไทย 5,330 ร้าน
  7. ฝรั่งเศส 4,680 ร้าน
  8. อินโดนีเซีย 4,000 ร้าน
  9. รัสเซีย 3,190 ร้าน
  10. บราซิล 2,850 ร้าน

ปีนี้เราคงได้เห็นร้านแกงกะหรี่ญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้น

ประธานเจโทรกล่าวว่า ยังคงมีร้านอาหารญี่ปุ่นแสดงความสนใจเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยอีกหลายราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในขณะนี้ว่าเป็นรายใด บอกได้ว่าร้านอาหารญี่ปุ่นที่สนใจเข้ามาปักหมุดในไทยนั้นมีความหลากหลาย มีทั้งร้านประเภทแกงกะหรี่ญี่ปุ่น ร้านราเมน และเทมปุระ

"ตอนนี้แนวโน้มยังคงมีการขยายตัว และคงยังไม่ถึงจุดอิ่มตัวในเร็ววัน เพราะเราจะเห็นได้ว่าจำนวนร้านต่อประชากรในพื้นที่ ยังมีช่องว่างที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สำหรับการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบนำเข้าจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นนั้น เราไม่ได้เน้นส่งเสริมกับเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เชื่อว่า วัตถุดิบจากญี่ปุ่น สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดีกับร้านอาหารไทย และร้านอาหารนานาชาติในประเทศไทยด้วย" ประธานเจโทรกล่าวทิ้งท้าย     

อ่านผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยปี 2566 ฉบับเต็ม คลิกที่นี่