"เวสต์แบงก์" พื้นที่ประวัติศาสตร์ แนวรบที่ 3 สงครามอิสราเอล-ฮามาส

20 ต.ค. 2566 | 09:50 น.

การโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอลยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า "เวสต์แบงก์" พื้นที่ประวัติศาสตร์ มีความกังวลว่าจะแนวรบที่ 3 ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ในขณะที่ทั่วโลกจับจ้องอยู่ที่การโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอลในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา  การโจมตีฉนวนกาซาครั้งล่าสุดของอิสราเอลเริ่มต้นขึ้นหลังจากนักรบจากกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ที่ปกครองฉนวนกาซา เปิดฉากการโจมตีอย่างไม่คาดคิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา 

สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กองทัพอิสราเอลได้เพิ่มการโจมตีที่รุนแรงขึ้นทุกวันในย่านใกล้เคียง หมู่บ้าน และเมืองของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกที่ถูกยึดครอง ซึ่งมีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่มากกว่าสามล้านคน 

ความรุนแรงในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มทิ้งระเบิดฉนวนกาซาและปะทะกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่ชายแดนเลบานอนเป็นแนวรบที่2  ทำให้เกิดความกังวลว่าดินแดนนี้อาจกลายเป็นแนวรบที่ 3 ในสงครามที่ขยายวงกว้างขึ้น เป็นสิ่งที่สื่ออิสราเอลเรียกว่าแนวรบที่มีศักยภาพ

ขณะที่กองทัพอิสราเอล กล่าวว่า กำลังเฝ้าระวังขั้นสูงและเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตี รวมถึง กลุ่มติดอาวุธฮามาสในเขตเวสต์แบงก์

อิสราเอลกำลังทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในเขตฉนวนกาซาของชาวปาเลสไตน์ แต่ทหารและผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลถอนตัวออกจากฉนวนกาซาในปี 2005 อิสราเอลยังคงยึดครองเวสต์แบงก์ ซึ่งถูกยึดครองพร้อมกับฉนวนกาซาในสงครามตะวันออกกลางปี ​​1967

เวสต์แบงก์ เป็นดินแดนที่อยู่ติดกับแม่น้ำจอร์แดนฝั่งตะวันตก มีสถานะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลเเละปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องร่วมกับฉนวนกาซา ถือเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

มีต้นกำเนิดพร้อมราชอาณาจักรเยรูซาเลม ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 - 15 เป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญในศาสนาคริสต์อย่างเบธเลเฮม เมืองสำคัญของศาสนาคริสต์ อิสลาม และยิว อย่างเมืองเยรูซาเลม จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ 

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการประกาศให้เวสต์แบงก์ ปกครองโดยรัฐบาลปาเลสไตน์ และเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตในอาณัติของสหราชอาณาจักร ต่อมาช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวทั่วโลกโดยเฉพาะในเยอรมนี อพยพเข้ามายังดินแดนปาเลสไตน์ โดยเฉพาะบริเวณเวสต์แบงก์

ปี 1948 ชาวยิวประกาศเอกราชก่อตั้งเป็นรัฐอิสราเอล พร้อมต่อสู้กับชาวปาเลสไตน์ กระทั่งจอร์แดนเข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณเวสต์แบงก์

ปี 1967 เกิดสงคราม 6 วัน อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะ กลุ่มปาเลสไตน์ต้องอพยพจากเวสต์แบงก์ไปจอร์แดน ทำให้บริเวณเวสต์แบงก์อยู่ใต้อาณัติของอิสราเอล 

ปี 1974 ที่ประชุมสุดยอดองค์การสันนิบาตอาหรับ มีมติกำหนดให้องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ เป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายของชาวปาเลสไตน์แต่เพียงผู้เดียวจอร์แดนไม่ได้ละทิ้งการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี 1988

ปี 1993 อิสราเอลและปาเลสไตน์ บรรลุข้อตกลงสันติภาพออสโล เพื่อคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ส่วนหนึ่งของข้อตกลงคือ การแบ่งเวสต์แบงก์ออกเป็น 3 บริเวณ

  • พื้นที่ A ประมาณ 11% ของเวสต์แบงก์ ทางการปาเลสไตน์ได้ควบคุม ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การรุกรานของอิสราเอล
  • พื้นที่ B ประมาณ 28% อยู่ภายใต้การควบคุมร่วมของกองทัพอิสราเอล-ปาเลสไตน์และการควบคุมพลเรือนปาเลสไตน์
  • พื้นที่ C ประมาณ 61% อยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอลโดยสมบูรณ์ 

\"เวสต์แบงก์\" พื้นที่ประวัติศาสตร์ แนวรบที่ 3 สงครามอิสราเอล-ฮามาส