ไม่เอานะเมียนมา! มิน อ่อง หล่าย จับมือรัสเซียปัดฝุ่นโครงการนิวเคลียร์ 

10 ก.พ. 2566 | 08:54 น.

เมียนมาจับมือรัสเซีย ลงนามพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เผยมีแผนปลุกปั้นเตาปฏิกรณ์รนิวเคลียร์พื่อสันติมาหลายปี แต่หลายฝ่ายหวั่นกองทัพเล็งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต

 

สื่อต่างประเทศและสื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมา ได้ลงนามร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของ รัฐบาลรัสเซีย เมื่อต้นสัปดาห์นี้ (6 ก.พ.) เพื่อเปิด ศูนย์ข้อมูลพลังงานนิวเคลียร์ หรือ Nuclear Technology and Information Center ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของการพัฒนา พลังงานนิวเคลียร์ ในเมียนมา มุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน
 

สื่อของทางการเมียนมา Global New Light of Myanmar รายงานเมื่อวันอังคาร (6 ก.พ.)ว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดรัฐบาลทหารเมียนมา ได้พบกับนายอเล็กเซ อีฟเจนีวิช ลิคาเชฟ ผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทพลังงานนิวเคลียร์รัสเซีย (Russian State Atomic Energy Corp) หรือ โรซาตอม (Rosatom) ของทางการรัสเซียเนื่องในโอกาสดังกล่าว

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดรัฐบาลทหารเมียนมา พบกับนายอเล็กเซ อีฟเจนีวิช ลิคาเชฟ ผ.อ.โรซาตอม

รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศพบกันที่ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ที่เพิ่งเปิดทำการในนครย่างกุ้ง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 ก.พ.)

ทั้งนี้ เมียนมาและ Rosatom ร่วมลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นเมื่อปี 2558 เพื่อก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูในเมียนมา และเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว (2565) ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อการฝึกฝนและการเสริมสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับพลังงานปรมาณู

เยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลพลังงานนิวเคลียร์ ที่เพิ่งเปิดตัวหมาดๆในนครย่างกุ้ง เมื่อต้นสัปดาห์นี้

สื่อเมียนมาอ้างอิงคำพูดของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย ที่กล่าวขอบคุณความร่วมมือของบริษัท Rosatom โดยย้ำว่า เมียนมาจะพัฒนาทรัพยากรบุคคลในด้านการก่อสร้างและการจัดการเตาปฏิกรณ์ในเมียนมา และจะฝึกฝนผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ และว่า

 

"ทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในด้านสาธารณสุขและการเกษตร รวมถึงการผลิตไฟฟ้าและความร่วมมือด้านนิวเคลียร์เพื่อสันติ"

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างเมียนมากับรัสเซียก่อให้เกิดความกังวลว่า กองทัพเมียนมาอาจพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ในอนาคต

โดยก่อนหน้านี้ รัสเซียได้สนับสนุนความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้ว รวมทั้ง เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเมียนมา หลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อปี 2564 เพื่อล้มรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซู จี และนำไปสู่การสังหารประชาชนหลายพันคน

 

ข้อมูลอ้างอิง

Atomic energy cooperation between Myanmar and Russia raises concern

Myanmar junta opens ‘nuclear information center’ in Yangon with Russia’s Rosatom