จุดหมายปลายทางของแรงงานชาวเมียนมา

05 ก.พ. 2566 | 22:00 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจากที่ลงเรื่องแรงงานเมียนมาไป ปรากฎว่ามีคนส่งแรงใจและคอมเม้นต์มายังผม เพื่อส่งผ่านไปให้แรงงานชาวเมียนมา ก็มีบางท่านที่บอกว่า น่าเห็นใจแรงงานเมียนมา ที่ตำแหน่งงานในประเทศของเขามีไม่เพียงพอต่อแรงงานที่ต้องการทำงาน ในขณะที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก

แม้ว่าแรงงานบางคน เขาแค่เดินทางเข้าไปทำงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีชายแดนติดอยู่กับประเทศของเขาแท้ๆ ยังต้องจ่ายค่าเดินทางหรือค่าดำเนินการขออนุญาตที่สูงมาก ซึ่งต้องใช้ค่าแรงกว่า 2-3 เดือนแลกกับการเข้ามาทำงานเลยทีเดียว ก็จะทำไงได้ละครับ เขาแค่โชคไม่ดีที่เกิดในประเทศของเขา ซึ่งอยู่ในยุคที่ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยแค่นั้นเองครับ 


ไม่น่าเชื่อเลยว่า ในอดีตประเทศเมียนมาในยุคเมื่อ 60 ปีก่อน ประเทศเมียนมาเขาเป็นประเทศชั้นนำของอาเชียนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความเจริญของเขาในยุค ก่อนปีพ.ศ.2500 นั้นรุ่งเรืองมากๆ สนามบินของเขา ไม่แพ้ประเทศใดในภูมิภาคนี้เลย สิงคโปร์ยังต้องมาดูงานที่ประเทศเมียนมาเลยครับ

ในยุคดังกล่าวนั้น ตึกรามบ้านช่องของเขา ก็ทันสมัยดูดีกว่าประเทศไทยเราเสียอีก ในยุคนั้นอาคาร 8-10 ชั้น อยู่กลางใจเมืองหลวงของประเทศเมียนมา คือกรุงย่างกุ้ง ก็มีให้เห็นดาดดื่นหลายอาคาร ส่วนใหญ่อยู่ที่ถนนมหาบันดูล่า ซึ่งปัจจุบันนี้ยังปรากฎร่องรอยให้เห็นอยู่ นี่ผมไม่ได้พูดลอยๆ นะครับ เพราะอาคารเหล่านั้นยังปรากฎมีปูนปั้นนูน ว่าสร้างขึ้นในปีค.ศ.1950 ถึงปีค.ศ.1958 ก็มีให้เห็นครับ

ในขณะที่ประเทศไทยเรามีเพียงอาคารเดียวเท่านั้น ที่อยู่บนถนนเยาวราช ผมยังจำได้สมัยผมเด็กๆ คุณแม่ผมพาเข้ามากรุงเทพฯครั้งแรก บนถนนพระราม 4 มีแต่อาคาร 2 ชั้นเป็นส่วนใหญ่ แค่ทุกๆ ร้านค้ามีติดไฟนีออนสว่างไสว ผมก็ตื่นตาตื่นใจแล้วครับ


 

ด้านเศรษฐกิจก็เช่นกันครับ สมัยที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ที่บนดอยแม่สะลอง ในปีพ.ศ.2515 คุณครูที่สอนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ต่างก็มาจากกรุงย่างกุ้งทั้งนั้น ก็ได้แต่ฟังแต่คุณครูท่านเล่าให้ฟังว่า ที่กรุงย่างกุ้งนั้นมีความเจริญ รุ่งเรืองยังไง ค่าของเงินจ๊าดในยุคนั้น ผมก็จำได้สนิทใจเลยว่า เราต้องใช้เงินบาทที่มากกว่าบาทห้าสิบแลกกับเงินจ๊าดหนึ่งจ๊าด เพราะทุกครั้งที่ก่อนจะขึ้นดอย พวกเราจะไปนอนที่อำเภอแม่สาย เพื่อรอเพื่อนๆ ขึ้นดอยไปด้วยกัน วันไหนว่างๆก็จะข้ามไปเล่นที่ฝั่งท่าขี้เหล็ก ผมจึงจำได้ดีครับ

แต่มาวันนี้ ใครเล่าจะไปคิดว่า ประเทศเมียนมาจะตกต่ำลงได้ถึงขนาดนี้ ค่าเงินจ๊าดจะตกต่ำลงมาเหลือเพียงหลายสิบจ๊าด ถึงจะแลกได้เงินบาทเพียงหนึ่งบาทแล้วละครับ นี่คงต้องบอกว่าเป็นความโชคร้ายของเขาจริงๆ ครับ



ทางด้านแรงงานก็เช่นกัน แน่นอนว่านิคมอุตสาหกรรม ที่มีอยู่เกือบ 20 แห่งในกรุงย่างกุ้ง วันนี้ส่วนใหญ่จะหยุดการผลิต ดังนั้นแรงงานที่มาจากแรงงานด้านการเกษตร ที่มีความฝันอยากเข้ากรุงย่างกุ้งมาหางานทำ จึงไม่สามารถมีตำแหน่งงานให้ทำได้ หากจะต้องการเงินค่าแรงสูงๆ ก็ต้องดิ้นรนออกมานอกประเทศ เช่นคนที่เป็นแรงงานไร้ทักษะฝีมือ ก็ไปได้เพียงประเทศไทยและประเทศชายแดนติดกับเมียนมาเท่านั้น ในขณะที่แรงงานที่มีทักษะฝีมือ ก็มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เช่นที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งก็มีแรงงานประเภทนี้ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
 

บางท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วแรงงานที่ว่านี้ เขามีทักษะฝีมือทางด้านไหนละ? ผมต้องกล่าวว่าชาวแรงงานเมียนมาที่เป็นแรงงานมีทักษะฝีมือเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีการศึกษาที่ดี เรียนมาทางด้านสาขาวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ (ส่วนใหญ่คุณหมอเหล่านี้จะไปสหรัฐอเมริกากัน) หรือหลากหลายวิชาการกัน

ส่วนใหญ่แรงงานที่มีทักษะฝีมือ ที่จะไปต่างประเทศแต่ละประเทศ เขาจะมีการคัดกรองด้วยการสอบการอย่างเข้มงวด เช่น ที่จะไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น จะต้องเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นขั้นต่ำต้อง เกรด 2 หรือนิคิวขึ้นไปเป็นต้น หรือที่จะไปเกาหลีใต้ก็จะต้องสอบเช่นกันครับ แต่ที่หลงๆมาทำงานที่บ้านเราก็มีเช่นกัน เพียงแต่เราไม่ได้มีการคัดกรอง แรงงานเหล่านี้จึงไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่ ผมยังเสียดายเลยว่า น่าจะมีหน่วยงานที่ช่วยคัดกรองนะครับ 

ในกรณีที่ถ้าหากเราทำการคัดกรองแรงงานที่เข้มงวด ไม่ปล่อยให้แรงงานที่มีทักษะฝีมือ หลงหล่นเข้าไปเป็นแค่แรงงานในโรงงาน โดยไม่ได้อยู่ในตำแหน่งงานที่เขาเหล่านั้นร่ำเรียนมา ย่อมเป็นที่น่าเสียดายนะครับ เพราะแทนที่เราจะได้ใช้มันสมองของพวกเขาเหล่านั้น มาใช้งานให้ถูกกับจริตของเขา เรากลับไปให้เขาเป็นได้แค่แรงงานชั้นต่ำ หรือเป็นได้แค่เพียงเด็กเสิร์ฟธรรมดาเท่านั้น ในขณะที่ประเทศของเขา อาจจะต้องเสียงบประมาณไปมากมาย กว่าจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ได้หนึ่งคน ดังนั้นถ้าเราสามารถฉวยโอกาสในช่วงที่เขากำลังจะโยกย้ายถิ่นฐานนี้ รับเอาเข้ามาทำงานได้ น่าจะเป็นประโยชน์มากนะครับ

สุดท้ายเราต้องคิดต่อนะครับว่า จุดหมายปลายทางของแรงงานเมียนมาเหล่านี้ ในใจของเขาต้องการอยากจะอยู่ที่ประเทศไหน? เราก็ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูนะครับ ผมคิดว่ามนุษย์เราเกือบทุกคน ที่น้อยคนนักจะอยากจะไปอยู่ในที่ห่างไกลบ้านเกิดของตนเอง ทุกคนก็คงอยากจะอยู่ใกล้ๆ บ้าน ที่มีอาหารการกิน ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับบ้านตนเอง นั่นคือประเทศไทยเรานี่แหละครับ คือตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเขาครับ