ดุลภาพแรงงานเมียนมาในประเทศไทย

29 ม.ค. 2566 | 20:30 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ต้อนรับท่านผอ.แรงงานจังหวัด จากจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออก ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่ใช้แรงงานจากเมียนมามากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงาน (Demand for labor) เยอะมาก ท่านมานั่งคุยกับผม พร้อมทั้งผู้ที่ทำธุรกิจนำเข้าแรงงานเมียนมารายใหญ่รายหนึ่ง มีชื่อว่าคุณนิพนธ์ เราต่างแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องของแรงงาน (Supply for Labor) ที่ประเทศไทยเรากำลังขาดแคลนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งน่าสนใจมากครับ

เป็นที่ทราบกันดีว่า วันนี้แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมในประเทศไทยเรา มีอยู่หลักๆ คือแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งนั้น เพราะแรงงานไทยเขาไม่ค่อยทำงานในโรงงานกันแล้ว “สาวฉันทนา” กลายเป็นเรื่องในอดีตไปแล้วครับ ส่วนแรงงานที่มีจำนวนมากที่สุด แน่นอนว่าเป็นแรงงานจากเมียนมา รองลงมาก็คือแรงงานจากกัมพูชาและลาว เป็นหลัก ดังนั้นต้องยอมรับว่าวันนี้แรงงานจากเมียนมา เป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมไทย
 


หลังจากเกิดปัญหา COVID-19 เกิดขึ้น ชายแดนไทย-เมียนมา ได้ปิดตัวลงในวันที่ 23 มีนาคม 2020 ต่อมาความโชคร้ายของประเทศเมียนมายังไม่จบลงที่ COVID-19 เท่านั้น ต่อมายังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเมียนมา ทำให้มีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ต่อด้วยความไม่สงบภายในประเทศ และการถูกประเทศชาติตะวันตกแทรงชั่น ทำให้ปัญหาแรงงานไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ ในขณะที่รายได้จากการส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศ แล้วนำรายได้กลับมาสู่ประเทศ เพื่อทำให้รายได้ประชาชาติของประเทศเมียนมาดีขึ้น อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นปัญหาใหญ่ของเมียนมาวันนี้ นี่คือปัญหาหลักเลยละครับ
 

 

ก่อนที่จะแก้ไขปัญหาหลักที่เกิดขึ้นทุกๆ ปัญหา ต้องเข้าใจปัญหาจะเกิดขึ้นสองทางหลัก คือ Supply for Labor และ Demand for Labor ในส่วนของ Supply for Labor ผมคิดว่ามีมากและทางประเทศเมียนมาเอง ก็มีความต้องการอยากจะส่งออกแรงงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ เข้าสู่ประเทศอยู่แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตัวแรงงานเอง ก็ต้องการที่จะเดินทางออกไปทำงานนอกประเทศเช่นกัน เพราะว่าอุตสาหกรรมภายในประเทศเมียนมา หลังจากเกิดปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น ก็ไม่ค่อยจะมีอัตราการจ้างงานมากเหมือนช่วงปี 2010-2020 ดังนั้นทุกคนก็อยากจะหาช่องทางเดินทางออกมาหางานทำ จุดหมายปลายทางที่ง่ายและสะดวกที่สุด ก็คือประเทศไทยเรานี่แหละครับ 

ในขณะที่ด้าน Demand for Labor คือส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยเรา หลังจากการเดินทางกลับประเทศของแรงงานในช่วงปี 2020 แล้ว ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมของประเทศไทย ก็เริ่มขาดแคลนลง เพราะแรงงานไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้ เราจะเห็นข่าวมีการจับกุมแรงงานที่หลบหนีเข้ามายังประเทศไทยบ่อยมาก ก็เพิ่งจะเริ่มมีการเดินทางกลับเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เมื่อไม่นานมานี่เอง แต่ก็ยังมีความต้องการใช้แรงงานอยู่อีกไม่น้อยครับ 
 


เราจึงต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้ทั้งสองฝั่งทั้งฝั่งของ Supply for Labor กับฝั่งของ Demand for Labor มาชนกัน ให้เกิดจุดดุลยภาพของแรงงานให้ได้ แต่เราต้องหาจุดต้นเหตุของปัญหาว่า เกิดขึ้นจากอะไร? ทำไมจึงไม่สามารถนำเข้า-ส่งออกแรงงานได้

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหามีอยู่หลากหลายปัจจัย อันประกอบด้วย ค่าเดินทาง ค่าขออนุญาตต่างๆ ค่าฝึกอบรม ค่านายหน้าจัดหางาน ฯลฯ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ จึงทำให้แรงงานใช้เวลาในการดำเนินการมีระยะเวลายาวนานเกินควร และวันนี้ที่เป็นปัญหามากที่สุด น่าจะอยู่ที่ค่าใช้จ่ายการดำเนินการขออนุญาตเดินทางออกมาจากประเทศเมียนมา รวมทั้งค่าใช้จ่ายเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งปัจจัยอื่นๆ น่าจะเป็นปัญหารองลงมา ดังนั้นคงต้องไปแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป 

ปัญหาดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากหน่วยธุรกิจหรือบริษัทจัดหางานทางประเทศเมียนมา ที่ทำการส่งออกแรงงานมา มีจำนวนจำกัด แม้อาจจะมีจำนวนที่เพียงพอก็ตาม ก็มีการจับมือกันเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่มีกำไรมาก ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ค่าดำเนินการขออนุญาตจึงไม่สามารถลดลงได้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ผู้รับภาระต้องตกไปอยู่ที่ตัวของแรงงาน ไม่ได้ตกอยู่ที่ตัวผู้ประกอบการหรือโรงงาน ในขณะที่แรงงานที่รับภาระที่ไม่ควรจะรับเลย เนื่องจากค่าบริการนั้นเยอะมาก มากถึงกับต้องทำงานชดใช้ด้วยค่าแรง นานสองถึงสามเดือนเลยทีเดียว ถ้าหากเราสามารถช่วยให้แรงงานใช้จ่ายน้อยลง ก็จะเป็นการช่วยเหลือแรงงานได้เป็นอย่างดี
 


อีกประการหนึ่งที่เป็นปัญหาอยู่ เรื่องของเวลาในการดำเนินการยื่นขออนุญาต ที่ไม่สอดคล้องคือตำแหน่งงานที่ผู้ประกอบการเองต้องการแรงงาน คืออาจจะได้ยื่นเรื่องติดต่อไปที่นายหน้าจัดหาแรงงาน บางครั้งผู้ประกอบการต้องการแรงงานอย่างเร่งด่วน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะกว่าที่จะดำเนินการแล้วเสร็จ ก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์แล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขในจุดนี้ให้ได้  

ส่วนปัญหาการฝึกอบรมแรงงาน ปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการจัดหาแรงงานส่วนใหญ่ ก็ได้ไปจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในประเทศเมียนมาเป็นหลัก ซึ่งต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ทำอย่างไรที่จะให้ผู้ประกอบการโรงาน ที่เป็นผู้ใช้บริการไว้เนื้อเชื่อใจหรือมีเครดิตมากพอที่จะให้ความเชื่อมั่นนายหน้า หรือผู้จัดส่งแรงงานได้

ผมก็คิดว่าน่าจะจัดทำศูนย์ฝึกอบรมในประเทศไทย เพื่อเทรนนิ่งแรงงานที่เขตเมือง ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมได้เดินทางไปดูการฝึกอบรมได้ง่าย ทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่จะได้รับแรงงานที่เข้ามาอบรมว่าจะมีประสิทธิภาพดีพอที่จะให้เข้ามาใช้ได้นั่นเอง
 


ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ แล้วใครจะเป็นคนรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นละ? เพราะที่ผ่านๆ มา ผู้ประกอบการหรือโรงงานที่ต้องการแรงงาน มักจะไม่ค่อยสนใจที่จะเสียเงินเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แรงงานเอง เราจะไปเก็บเพิ่มจากเขาก็คงไม่ได้ เพราะค่าแรงก็ไม่ได้มากนัก ดังนั้นก็คงต้องหาทางออกจากผู้มีประสบการณ์มาให้ความคิดเห็นแล้วละครับ 

เรื่องนี้จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข เพื่อให้ปัญหาแรงงานต่างชาติ ที่เป็นแรงงานหลักของประเทศไทย ได้รับการแก้ไขให้ถูกทิศถูกทาง โดยการสร้างความสมดุลของ Demand และ Supply ให้เกิดขึ้นนั่นเองครับ