ทวิตเตอร์พักการใช้ตรายืนยัน “บลูเช็ค”สีฟ้า ที่เก็บค่าสมาชิก 8 ดอลลาร์

11 พ.ย. 2565 | 23:31 น.

ทวิตเตอร์ในภาวะสับสน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวานนี้ (11 พ.ย.) ว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากระบุว่า พวกเขาไม่พบตัวเลือกการเป็นสมาชิกราคา 8 ดอลลาร์ต่อเดือนเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้อีกต่อไป

 

ขณะที่ตัวเลือกการเป็นสมาชิกราคา 8 ดอลลาร์ต่อเดือนของ ทวิตเตอร์ เพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้หายไปนั้น บริษัทกลับนำตรา “บัญชีทางการ” (official label) มาสู่ผู้ใช้อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่วันตราสัญลักษณ์ดังกล่าวถูกยกเลิกใช้ไป

 

ความสับสนไม่ลงตัวของทวิตเตอร์ เกิดขึ้นหลังจากที่นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีร่ำรวยอันดับหนึ่งของโลก ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา เข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์และรับตำแหน่งซีอีโอของบริษัทเมื่อเร็ว ๆนี้ พร้อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทวิตเตอร์ตั้งแต่การปลดผู้บริหาร ลดจำนวนพนักงาน ไปจนถึงการรื้อ-โละระบบหลายอย่างในทวิตเตอร์

 

บริษัทยังไม่ได้ตอบกลับรอยเตอร์เมื่อถูกถามความคิดเห็นในเรื่องการผลุบโผล่ของบริการดังกล่าวข้างต้น

สำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์

 

อย่างไรก็ตามสื่อระบุว่า การกลับลำครั้งนี้ของทวิตเตอร์ภายใต้การบริหารของ นายอิลอน มัสก์ เจ้าของคนใหม่เกิดขึ้นหลังจากมีบัญชีปลอมปรากฏขึ้นจำนวนมากบนทวิตเตอร์ นับตั้งแต่ที่มัสก์เปิดทางให้ผู้ใช้เลือกเป็นสมาชิกที่ราคา 8 ดอลลาร์ต่อเดือนซึ่งมาพร้อมกับ เครื่องหมาย “บลูเช็ค” (Blue Check เครื่องหมายถูกสีขาวบนพื้นสีฟ้า) เพื่อยืนยันตัวตนสำหรับบัญชีที่มีคนติดตามจำนวนมาก เช่นบัญชีทวิตเตอร์ของศิลปินดัง บุคคลที่มีชื่อเสียง และองค์กรใหญ่ๆ

 

ในบรรดาตัวอย่างของความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ คือบัญชีปลอม ที่ปรากฏเครื่องหมาย “บลูเช็ค” อยู่ที่โปรไฟล์ เกิดขึ้นกับบริษัทของนายมัสก์เอง คือ ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา และกิจการสำรวจอวกาศสเปซเอ็กซ์

 

บัญชีธุรกิจของมัสก์เองก็ถูกบัญชีปลอมโผล่มาป่วนเช่นกัน

 

นอกจากนั้น บริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น บริษัทเกมส์นินเทนโด ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเนสท์เล่ หรือแม้กระทั่งล็อคฮีดมาร์ติน ในอุตสาหกรรมอาวุธ-ยุทโธปกรณ์ และบริษัทยา อีไล ลิลลี่ ก็ยังถูกผู้อื่นตั้งบัญชีปลอมขึ้นมาแกล้งอีกด้วย

 

บัญชีปลอมของ อีไล ลิลลี่ ยังได้ทวีตว่า จะมีการแจกอินซูลินฟรี จนทางบริษัทต้องออกมาขอโทษ

 

ทวิตเตอร์กล่าวว่า เพื่อเป็นการจัดการกับผู้สร้างบัญชีปลอม บริษัทจึงนำตรารับรอง “บัญชีทางการ” กลับมาใช้ ด้านนายเอ เจ บาวเออร์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแอละบามา (University of Alabama) กล่าวว่า “ทวิตเตอร์ใช้เวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำงานเพื่อปรับปรุงปัญหาข้อมูลบิดเบือน และดูเหมือนว่าอีลอน มัสก์จะเข้ามารื้องานเหล่านั้นในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์”

 

ก่อนหน้านี้มัสก์เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ที่เข้ามาสร้างบัญชีปลอมโดยไม่ระบุใช้ชัดแจ้ง ถือเป็น “การล้อเลียน” และจะโดนห้ามใช้แพลตฟอร์มเป็นการถาวร

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10 พ.ย.) มัสก์พูดถึงสถานะของธุรกิจทวิตเตอร์ โดยระบุถึงความเสี่ยงเรื่องล้มละลาย ในอีเมลที่ส่งให้พนักงานทั่วบริษัท เขากล่าวว่า ถ้าหากบริษัทไม่สามารถเพิ่มรายได้จากค่าสมาชิก บริษัทจะไม่สามารถ “รอดพ้นจากเศรษฐกิจขาลงที่กำลังจากมาถึง”

 

รอยเตอร์รายงานว่า ขณะนี้มีหลายบริษัทที่งดลงโฆษณาบนทวิตเตอร์หลังจากที่นายมัสก์กลายมาเป็นเจ้าของคนใหม่ เช่น เจนเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) และสายการบินยูไนเต็ด เป็นต้น