อังกฤษถูกสอยตำแหน่ง “อินเดีย” แซงขึ้นแท่นขนาดเศรษฐกิจเบอร์5 ของโลก

08 ก.ย. 2565 | 06:44 น.

อังกฤษหล่น Top5 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 6 ขณะที่ “อินเดีย” ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษ กลับผงาดขึ้นแท่นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลกได้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา (2564)

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จากข้อมูลของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เกี่ยวกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพบว่า ขณะนี้ อังกฤษ ตามหลัง อินเดีย ในแง่ ขนาดเศรษฐกิจ โดยอังกฤษได้หล่นอันดับลงมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าและภาวะค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงเป็นประวัติการณ์ 

 

ขณะที่ อินเดีย ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษ ได้ก้าวแซงหน้าอังกฤษขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก (จากการคำนวณโดยใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ได้สำเร็จภายในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2564 และยังคงนำอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

รับตำแหน่งปุ๊บ "ลิซ ทรัสส์" ก็เจอบททดสอบสุดหินทางเศรษฐกิจในทันที

อันดับที่ตกต่ำลงของอังกฤษไม่เป็นเรื่องน่ายินดีนักสำหรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นางลิซ ทรัสส์ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเธอชนะการเลือกตั้งได้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่แทนนายบอริส จอห์นสัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ก.ย.) และได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการหลังเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ก.ย.

ทันทีที่ได้รับตำแหน่งนายกฯคนใหม่ของอังกฤษ นางทรัสส์ ไม่เพียงต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นรวดเร็วที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ แต่ยังต้องพบกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ (BoE) ระบุว่า น่าจะเริ่มขึ้นปลายปีนี้ (2565) และอาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2567

 

ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจอินเดียคาดว่าจะเติบโตในอัตรามากกว่า 7% ในปีนี้ การดีดตัวขึ้นของหุ้นอินเดียในไตรมาสนี้ ตำแหน่งของอินเดียพุ่งขึ้นเป็นอันดับสองในดัชนี MSCI Emerging Markets Index ซึ่งตามหลังเพียงจีนเท่านั้น

คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตในอัตรามากกว่า 7% ในปีนี้

บนพื้นฐานที่ปรับแล้วและใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่สิ้นสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ขนาดของเศรษฐกิจอินเดียในรูปเงินสดอยู่ที่ 854,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของอังกฤษในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 816,000 ล้านดอลลาร์ (การคำนวณทำโดยใช้ฐานข้อมูลจาก IMF และอัตราแลกเปลี่ยนในอดีตบนเทอร์มินัลของ Bloomberg)

ทั้งนี้ อันดับของอังกฤษ (ในแง่ขนาดเศรษฐกิจ) มีแนวโน้มที่จะตกต่ำต่อไปอีก เมื่อพิจารณาจากการที่ GDP ของอังกฤษเติบโตเพียง 1% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และเมื่อปรับค่าอัตราเงินเฟ้อแล้ว ถือว่าเศรษฐกิจอังกฤษหดตัว 0.1% ขณะที่ค่าเงินปอนด์ก็กำลังอ่อนยวบ และเมื่อเทียบกับเงินรูปี ค่าเงินปอนด์ร่วงลงไปแล้ว 8% นับจากต้นปีมา

 

คาดการณ์ของ IMF ระบุว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของโลก เรียงจากใหญ่สุดลงไปนั้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และอินเดีย ตามลำดับ

 

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว อินเดียอยู่ในอันดับที่ 11 ขณะที่อังกฤษอยู่ในอันดับที่ 5 แต่ปัจจุบัน อินเดียก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 5 ส่วนอังกฤษเองกลับตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 6

 

ข้อมูลอ้างอิง

UK Slips Behind India to Become World’s Sixth Biggest Economy