รำลึก 25 ปีฮ่องกงคืนสู่อ้อมอกจีน อนาคตจากนี้จะไปทางไหน

01 ก.ค. 2565 | 03:58 น.

ปธน.สี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวปราศรัย หลังเดินทางถึงฮ่องกงด้วยรถไฟความเร็วสูงวานนี้ เพื่อร่วมรำลึกครบรอบ 25 ปีที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้จีน และร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้ว่าการเกาะฮ่องกงคนใหม่ว่า "อนาคตของฮ่องกงจะต้องสดใสยิ่งกว่าเดิม" เพราะอะไรจึงเชื่อเช่นนั้น  

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวที่สถานีรถไฟเกาลูนตะวันตกเมื่อวันพฤหัสฯ (30 มิ.ย.)หลังเดินทางถึงเกาะฮ่องกงว่า  หากชาวฮ่องกงยึดมั่นใน นโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ เขาเชื่อมั่นว่า อนาคตของฮ่องกง จะต้องสดใสยิ่งกว่าเดิม

 

“อนาคตที่สดใสจะเกิดขึ้น หากเราก้าวไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ตราบใดที่ทุกคนยังยึดมั่นในนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ อย่างแน่วแน่ ฮ่องกงจะมีอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นไปอีก และสร้างคุณูปการใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในการฟื้นฟูชาติจีน” ผู้นำจีนย้อนรำลึกว่า การเดินทางเยือนฮ่องกงของเขาครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ คือเมื่อ 5 ปีก่อน

 

ขณะเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ฮ่องกงในวันเดียวกันนั้นพร้อมนางแคร์รี แลม ซึ่งกำลังจะเป็นอดีตผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในวันศุกร์ (1 ก.ค.) เมื่อ นายจอห์น ลี ผู้ว่าการฯ คนใหม่ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และมีการเปิดสมัยการประชุมของรัฐบาลฮ่องกงสมัยที่ 6 ปธน.สี จิ้นผิงกล่าวว่า ฮ่องกงจะสามารถใช้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน เพื่อสร้างความสำเร็จในการวิจัยขั้นพื้นฐาน การบ่มเพาะผู้มีความสามารถ และการพัฒนาในภาคนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และนายจอห์น ลี ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงคนใหม่ (ขอบคุณภาพจาก Hong Kong Free Press)

นั่นหมายความว่า นอกจากบทบาทศูนย์กลางการค้าและการเงินในภูมิภาค ที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากหลากหลายปัจจัยลบ ไม่ว่าจะเป็นกระแสการประท้วงอย่างต่อเนื่องที่สร้างความโกลาหลและสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุน การที่ฮ่องกงถูกสหรัฐตัดสถานะพิเศษทางการค้า และการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของฮ่องกงที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการสกัดกั้นกิจกรรมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ถล่มซ้ำด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ฮ่องกงต้องปิดพรมแดนคุมเข้มการเดินทางเข้าประเทศ รัฐบาลจีนกำลังพยายามสร้างเสริมบทบาทใหม่ให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมือกับบรรดามณฑลบนจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งในบริเวณอ่าวกวางตุ้ง และมาเก๊า

 

ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ดังกล่าว เป็นฐานการวิจัยและพัฒนาและการบ่มเพาะธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงมีสถานประกอบการมากกว่า 1,100 แห่ง และนักประดิษฐ์กว่า 17,000 คนรวมตัวเป็นขุมพลังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ที่นั่น

 

“ในช่วงที่ผ่านมาฮ่องกงต้องประสบกับบททดสอบที่ตึงเครียดอยู่หลายครั้ง แต่ก็สามารถเอาชนะความเสี่ยงและความท้าทายต่างๆ มาได้ หลังจากที่ต้องเผชิญกับมรสุมนานัปการ ฮ่องกงได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่พร้อมกับพลังอันแข็งแกร่ง” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าว

ย้อนรำลึก 25 ปีการคืนฮ่องกงสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่

ปธน.สี จิ้นผิง เยือนฮ่องกงครั้งนี้ เพื่อเข้าร่วมการเฉลิมฉลองวันครบรอบ 25 ปีที่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 (พ.ศ.2540) เป็นวันที่อังกฤษคืนฮ่องกงสู่อำนาจการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ หลังจากที่สัญญาเช่า 99 ปีหมดอายุสัญญาลงในวันที่ 30 มิ.ย. ปีเดียวกันนั้น อันเป็นยุคสมัยที่นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และนายเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำจีน  

พิธีส่งมอบเกาะฮ่องกงให้กลับคืนสู่อาณัติปกครองของจีนในปี 1997 (พ.ศ.2540) หลังสัญญาเช่า 99 ปีระหว่างอังกฤษและจีนหมดอายุลง

นับจากนั้นมา ฮ่องกงก็เป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน ภายใต้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่ใช้ในการปกครองฮ่องกง ตามกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ปกครองและบริหารฮ่องกงที่สภาประชาชนจีนอนุมัติและประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2533 ให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรี รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2540 จนไปถึง 30 มิ.ย. 2590 ซึ่งหลังจากนั้น ฮ่องกงจะเปลี่ยนไปปกครองแบบเมืองอื่น ๆ ของจีน และนั่นหมายความว่า ในวันนี้ (1 ก.ค. 2565) จีนได้เดินมาถึงครึ่งทางของคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับอังกฤษว่า รัฐบาลจีนจะปกครองฮ่องกงด้วยหลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ เป็นเวลา 50 ปี

 

‘Building a Bright Future Together’ สร้างอนาคตที่สดใส อย่างไร?

เรามาดูกันว่า นับจากนี้ต่อไปในอนาคต ฮ่องกงจะเดินหน้าไปในทิศทางใด สะท้อนได้ชัดจาก นโยบายประจำปี 2564 ที่ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงประกาศไว้ในหัวข้อ ‘Building a Bright Future Together’ ซึ่งคาดการณ์ถึงอนาคตที่สดใสของฮ่องกง ด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่

 

(1) ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการคืนสู่จีนในปี 2565 ฮ่องกงจะกลับคืนสู่หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ จากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ โดยเน้นย้ำว่า ‘หนึ่งประเทศ’ คือฐานรากของหลักการดังกล่าว พร้อมปรับปรุงระบบเลือกตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้คนรักชาติเข้ามาบริหารฮ่องกงอย่างแท้จริง (patriots administering Hong Kong)

 

(2) ฮ่องกงพร้อมรับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในด้านการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 โดยเฉพาะในพื้นที่ Greater Bay Area (GBA) และยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (dual circulation)

เมืองต่าง ๆในพื้นที่ Greater Bay Area (GBA)

(3) ฮ่องกงยังคงยึดมั่นในจุดแข็งที่มีมาแต่เดิม เช่น หลักนิติธรรม ความเป็นอิสระของตุลาการ รวมทั้งสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ เห็นได้จากการครองอันดับทางเศรษฐกิจ เป็นอันดับที่ 7 ของโลกใน Global Financial Centres Index ฉบับล่าสุด เมื่อกันยายน 2564 และอันดับ 2 ของโลกใน IMD World Digital Competitiveness 2021 รวมทั้งยังเป็นอันดับ 2 ของโลก ในด้านศูนย์กลางของการระดมทุน IPO และการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทด้าน biotech

 

นอกจากนี้ ฮ่องกงจะยังดำรงความเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เห็นได้จากการที่รัฐบาลฮ่องกงได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ (stock connect) ตลาดตราสารหนี้ (bond connect) และการเข้าถึงบริการทางการเงินและการบริหารจัดการความมั่งคั่ง (wealth connect) ข้ามพรมแดน เพื่อสนับสนุนการบูรณาการทางการเงินระหว่างฮ่องกงกับจีน ยิ่งไปกว่านั้น ฮ่องกงจะยกระดับศักยภาพด้าน IT สู่ระดับสากล โดยการพัฒนาผลงาน R&D เพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม และ การปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม (reindustrialisation) ซึ่งจะมุ่งเน้น 3 สาขาสําคัญ อันได้แก่

  1. biotech
  2. health tech
  3. life sciences

โดยรัฐบาลฮ่องกงจะสนับสนุนที่ดิน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT สร้างคลัสเตอร์นวัตกรรม “InnoLife Healthtech Hub” ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นที่อุทยานนวัตกรรมและเทคโนลีฮ่องกง-เซินเจิ้น (Hong Kong – Shenzhen Innovation and Technology Park)

 

ส่วนด้านการค้า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา (2564) ฮ่องกงมีมูลค่าการค้าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.4 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยเฉพาะการค้าผ่านการขนส่งทางอากาศ (air cargo) ซึ่งมีจํานวนราว 4.5 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกงยังวางแผนส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนของ SMEs ผ่านโครงการ Commercial Data Interchange (CDI) เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางการค้าอย่างครอบคลุม

 

นอกเหนือจากนี้ ฮ่องกงจะเป็นศูนย์กลางด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตก โดยรัฐบาลฮ่องกงได้แสดงความประสงค์ให้สถานกงสุลใหญ่ประเทศต่าง ๆ นําการแสดงจากต่างประเทศเข้ามาจัดแสดงในฮ่องกงด้วย

 

ประเด็นใหญ่ที่ยังเป็นความท้าทาย

สถานกงสุลใหญ่ของไทย ณ เมืองฮ่องกง ได้ประมวลข้อมูลไว้ว่า ประเด็นด้านที่ดินและที่พักอาศัย นับเป็นความท้าทายหลักของฮ่องกงที่ทําให้การพัฒนาประเด็นต่าง ๆ ยังไม่บรรลุผลสูงสุด โดยรัฐบาลฮ่องกงได้เร่งการพัฒนาตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ Hong Kong 2030+ และพัฒนาที่ดินราว 350 เฮกตาร์ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนราว 3.3 แสนยูนิตในช่วง 10  ปีข้างหน้า

 

นอกเหนือจากนี้ ฮ่องกงยังมองว่าแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศและจีนแผ่นดินใหญ่มีความจําเป็นยิ่งสําหรับการพัฒนาทางเทคโนโลยีของฮ่องกง ดังนั้น รัฐบาลฮ่องกง จึงได้เพิ่มโควตาผู้เข้าข่ายตามมาตรการ Quality Migrant Schemes จาก 2,000 คน เป็น 4,000 คน เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงมายังฮ่องกงให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนสําหรับแรงงานทักษะสูงในพื้นที่ GBA

 

และเพื่อตอบรับเทรนด์โลกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ฮ่องกงวางแผนมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปีค.ศ. 2050 และจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนร้อยละ 50 ภายในปี 2035 โดยฮ่องกงจะประกาศแผนปฏิบัติการ Hong Kong’s Climate Action Plan 2050 ในเร็ว ๆ นี้ และจะจัดตั้ง Office of Climate Change and Carbon Neutrality เพื่อประสานงานการบรรลุเป้าหมายข้างต้น นอกจากนี้ ฮ่องกงจะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคการขนส่ง และสร้างโรงงานเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน (Waste-To-Energy – WTE) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

 

จากข้อมูลข้างต้น ผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมในสาขา biotech, health tech และ life sciences ควรพิจารณาการลงทุนในฮ่องกง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของที่ดิน หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นการลดอุปสรรคในด้านการลงทุนได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ นโยบายการสนับสนุนแรงงานต่างชาติในฮ่องกง นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของแรงงานไทย ในการเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ใหญ่ขึ้น