โอกาสทองของ "อาเซียน-ละตินอเมริกา" ในวิกฤตห่วงโซ่อุปทาน

27 มิ.ย. 2565 | 01:22 น.

เพราะอะไร การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานของจีน ที่ได้ชื่อว่า "โรงงานของโลก” จึงเปิดโอกาสทองให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และละตินอเมริกา ที่นี่มีคำตอบ

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทต่างชาติพากันปรับวิธีการจัดหาชิ้นส่วนและย้ายฐานการผลิตเพื่อให้ ระบบห่วงโซ่อุปทาน ของตนเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบริษัทเหล่านี้ได้ปลีกตัวออกห่างจาก จีน แล้วหันไปขยายตัวในประเทศแถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ละตินอเมริกา มากยิ่งขึ้น

 

วีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า จีน ได้ดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาตั้งโรงงานตั้งแต่ช่วงยุคทศวรรษ 1980 ด้วยค่าแรงราคาถูกและผลการผลิตที่สูง อย่างไรก็ตาม บทบาทของจีนในการเป็น “โรงงานการผลิตของโลก” กำลังอ่อนแสงลง เพราะการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส “โควิด-19” ทำให้บริษัทต่าง ๆ ทั้งจากฝั่งอเมริกาและยุโรป เลือกที่จะหาชิ้นส่วนการผลิต แรงงาน และการประกอบสินค้าภายในประเทศ หรือจากประเทศอื่น ๆ ทดแทนจีน รวมทั้งจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง 

 

จาแยน มีนอน นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน ISEAS ที่สิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จีน กำลังเผชิญกับความยากลำบาก อีกทั้งมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของจีนนั้นยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบห่วงโซ่อุปทานด้วย

มาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของจีน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน

 

ตัวเลือกอื่นนอกจากจีน

ในขณะที่จีนล็อกดาวน์เมืองใหญ่ ๆ ถึงสองแห่ง ทั้งปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้  ผลกระทบทางด้านการผลิต ความล่าช้าในการขนส่ง และการขาดแคลนคนงาน ทำเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายต่อผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคของประชาชนในยุโรป อเมริกา และหลายส่วนของเอเชีย ในทางกลับกันประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย กลับผ่อนคลายกฎการควบคุมการระบาด

 

ดักลาส แบร์รี่ รองประธานด้านการสื่อสารแห่ง สภาธุรกิจสหรัฐ-จีน (U.S.-China Business Council) อธิบายว่า บริษัทสัญชาติอเมริกันในจีน กระจายความเสี่ยงด้วยการคงฐานการผลิตในจีนเอาไว้ แต่ก็ขยายไปที่อื่นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ทางการจีนยังบังคับใช้มาตรการ “โควิดเป็นศูนย์” และการเพิ่มขึ้นของความขัดแย้งทางการเมือง

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเพิ่มขึ้นของค่าแรงในจีนก่อนโควิดระบาด บวกกับสงครามการค้าระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งที่เพิ่มภาษีนำเข้าตั้งแต่ปี 2018 ได้ทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม ไทย และมาเลเซียได้ประโยชน์จากการปรับตัวของระบบห่วงโซ่อุปทาน

จาแยน มีนอน นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน ISEAS ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า เวียดนาม ขึ้นแท่นเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดเพราะคุณภาพแรงงาน นโยบายการสนับสนุนการทำธุรกิจ และเครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรี เห็นได้จากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ ๆ อย่าง ซัมซุงของเกาหลีใต้และอินเทลของสหรัฐ ได้เข้าไปทำธุรกิจกับเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามยังมีโรงงานประกอบและผลิตรถยนต์ของแบรนด์ต่างชาติด้วย

 

ส่วนมาเลเซียก็ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีได้มากกว่า เช่น บริษัทในเครือของผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของ Foxconn Technology ได้ลงนามในสัญญาจัดตั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้ากับบริษัทมาเลเซียที่ชื่อ Dagang NeXchange

 

ราจิฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง S&P Global Market Intelligence ระบุว่า นอกจากมาเลเซียแล้ว ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างดึงดูดบริษัทต่างๆ ให้เข้ามาทำธุรกิจ และใช้ประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานที่ยังอยู่ในระดับกลาง ๆ

 

ทั้งนี้ บิสวาส เห็นพ้องกับมีนอนว่า แม้บริษัทต่างชาติจะขยายฐานการผลิตในประเทศอื่น ๆ แต่บริษัทเหล่านี้จะยังคงเพิ่มฐานการผลิตและตั้งโรงงานในจีนต่อไป เพราะตลาดจีนมีลูกค้าหลายพันล้านคน เหตุนี้เป็นเพราะช่วงโควิดทำให้ผู้ผลิตเห็นถึงความสำคัญในการ “กระจายความเสี่ยง” และขณะเดียวกัน ก็การสร้างความแข็งแกร่งของระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการตั้งโรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งนอกทวีปเอเชีย เพื่อลดผลกระทบนั่นเอง

ช่วงโควิดทำให้ผู้ผลิตเห็นถึงความสำคัญในการ “กระจายความเสี่ยง”

ละตินอเมริกา

ทางแถบละตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ เช่น เม็กซิโก นั้น ดึงดูดนักลงทุนอเมริกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และยังคงมีความได้เปรียบด้านการค้าการลงทุนในหลายมิติ

 

อีแวน เอลิส อาจารย์แห่ง US Army War College Strategic Studies Institute ชี้ว่า เม็กซิโกจะได้รับประโยชน์จากกระแส near-shoring หรือ การซื้อสินค้า การพึ่งพาฐานการผลิตจากประเทศใกล้เคียง เพราะเม็กซิโกนั้นมีพรมแดนติดกับสหรัฐ ทั้งยังใช้เวลาโซนเดียวกัน นอกจากนี้ แรงงานยังมีการศึกษาระดับหนึ่งด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทของทั้งสองชาติค้าขายได้โดยสะดวก อย่างไรก็ดี ปัญหาอาชญากรรมและค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่สูงอยู่ ยังถือเป็นอุปสรรคสำคัญ

 

นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดว่า เม็กซิโกจะดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมได้ เพราะสินค้าที่ผลิตจากที่นั่น จะเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐด้วยสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่ทำไว้กับสหรัฐ

 

อีกประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาที่ได้รับความสนใจ คือ บราซิล เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เช่น สินแร่และน้ำมันปิโตรเลียม อีกทั้งบราซิลยังเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ จึงทำให้หลายๆ บริษัทเข้ามาทำธุรกิจและตีตลาดขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคชาวบราซิลที่มีจำนวนราว 212 ล้านคนด้วย​

 

ที่มา: วีโอเอ