"สามเหลี่ยมลิเธียม" อยู่ที่ไหน ทำไมสำคัญต่อซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้า 

04 มิ.ย. 2565 | 18:08 น.

เมื่อเอ่ยถึง “ลิเธียม” หลายคนรู้ดีว่านี่คือวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ ขณะนี้ 3 ประเทศในอเมริกาใต้ที่ได้ชื่อว่า "สามเหลี่ยมลิเธียม" ในฐานะแหล่งผลิตแร่ลิเธียมรายใหญ่ของโลก กำลังรวมพลังกันเพื่อรุกเเข่งขันและเพิ่มบทบาทในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต  

ประเทศในแถบอเมริกาใต้ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สามเหลี่ยมลิเธียม” หรือ Lithium Triangle ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ชิลี และ โบลิเวีย กำลังเจรจาเพื่อร่วมมือกันสร้างความคืบหน้าในการก่อตั้งอุตสาหกรรมการผลิต แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อรวม ๆ กันแล้ว ทั้งอาร์เจนตินา ชิลี และโบลิเวีย มีสัดส่วนทรัพยากรลิเธียมมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก! โดยปัจจุบัน ชิลีเป็นผู้ส่งออกลิเธียมมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ในขณะที่อาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่เติบโตได้รวดเร็วที่สุด 

 

แม้ว่าปัจจุบัน ทั้งสามประเทศจะเล็งเห็นถึงข้อจำกัดในการยกระดับตัวเองไปสู่การเป็นผู้ผลิตลิเธียมที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยที่ยังไม่รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่หรือรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ แต่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้ละความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมดังกล่าว

สามเหลี่ยมลิเธียม หรือ Lithium Triangle ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ชิลี และ โบลิเวีย

การผนึกความร่วมมือไตรภาคีเพื่อสร้างสถานะที่ดีขึ้นในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้านั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสงครามในยูเครนเป็นตัวเร่งการแยกส่วนความสัมพันธ์ทางการค้าแบบดั้งเดิม ทั้งยังกระตุ้นความพยายามในการส่งเสริมอุตสาหกรรมในท้องถิ่น โดยเฉพาะธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด

 

ถึงแม้อาร์เจนตินา ชิลี และโบลิเวียจะมีมุมมองที่แตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องของการผลิตลิเธียม แต่ทั้งสามประเทศก็มีมุมมองร่วมกันในเรื่องของอนาคต

 

นายเฟอร์นันดา อาวิลา ปลัดกระทรวงเหมืองแร่ของอาร์เจนตินาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กขณะเข้าร่วมงานสัมมนา New Economy Gateway Latin America ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศปานามาว่า  สิ่งที่ทั้งสามฝ่ายกำลังทำอยู่ในขณะนี้ คือการร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อความก้าวหน้าในการสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ อาร์เจนตินายังต้องการที่จะร่วมงานกับชิลีและโบลิเวียในรูปแบบไตรภาคี ซึ่งมีคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ ที่ทำเหมืองแร่ลิเธียม ซึ่งจนถึงขณะนี้ เขาเห็นว่าการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ดี

 

ทั้งนี้ รัฐบาลกลางของอาร์เจนตินาได้ให้การสนับสนุน 3 จังหวัด ซึ่งได้แก่ ฮูฮุย (Jujuy) ซัลตา (Salta) และคาตามาร์คา (Catamarca) ในการพยายามรักษาแรงผลักดันด้านการลงทุนพัฒนาเหมืองแร่ลิเธียมของประเทศ ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้รับความสนใจเข้ามาลงทุนจากบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเหมืองแร่จากนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทริโอ ทินโต กรุ๊ป (Rio Tinto Group) ในกรุงลอนดอน บริษัทลิเธียม อเมริกาส์ คอร์ป. (Lithium Americas Corp.) ในแวนคูเวอร์ บริษัทพอสโก (Posco) ในเกาหลีใต้ และซีจิน ไมนิ่ง กรุ๊ป (Zijin Mining Group Co.) ของจีน

ล่าสุด อาร์เจนตินาได้ผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่สภาเมื่อเร็ว ๆนี้ โดยเนื้อหาครอบคลุมถึงการให้สิทธิประโยชน์จูงใจในด้านการลงทุน และการกำหนดเส้นตายสำหรับการระงับการขายรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2041 (พ.ศ.2584) โดยแนวคิดของกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อวางรากฐานสำหรับการสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ในภูมิภาคนี้ ด้วยความช่วยเหลือจากบริษัทกังเฝิง ลิเธียม  (Ganfeng Lithium Co.) และโกชัน ไฮ-เทค (Gotion High-tech Co.) ของประเทศจีนที่เสนอตัวแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการ

อาร์เจนตินามีเหมืองลิเธียมบนที่ราบสูงอัลติพลาโน (altiplano) ซึ่งเป็นทะเลเกลือที่เป็นแหล่งแร่ลิเธียม

นายอาวิลา ปลัดกระทรวงเหมืองแร่ของอาร์เจนตินา บอกกับผู้สื่อข่าวว่า อาร์เจนตินามีความหวังและต้องการที่จะสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในอนาคต โดยปัจจุบัน คณะทำงานของจังหวัดต่าง ๆ ในอาร์เจนตินากำลังทำการเก็บข้อมูลเรื่องโครงการลิเธียมเพื่อรวบรวมสิ่งที่ต้องทำด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงถนนหนทางและสายไฟที่จะได้รับประโยชน์จากการตั้งเหมืองลิเธียมบนที่ราบสูงอัลติพลาโน (altiplano) ซึ่งเป็นทะเลเกลือที่เป็นแหล่งลิเธียม 

 

ทั้งนี้ ในสถานที่อื่นๆในโลก มักจะสกัดแร่ลิเธียมจากหิน แต่ในภูมิภาคอเมริกาใต้จะเป็นการดึงแร่ลิเธียมจากบ่อเกลือ แร่ลิเธียมที่พบในบริเวณนี้ มีคุณภาพและความบริสุทธิ์สูง

 

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาร์เจนตินาได้พยายามร่วมมือกับชุมชนเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะกลายเป็นอุปสรรคโครงการ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับโครงการพัฒนาแหล่งแร่อื่น ๆ

 

เนื่องจากอุตสาหกรรมลิเธียมของอาร์เจนตินาเพิ่งจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น ดังนั้น จึงมีการดำเนินการอยู่เพียง 2 โครงการเท่านั้น โดยโครงการที่สามมีกำหนดจะเข้าร่วมในปีนี้ ซึ่งควรจะเป็นเรื่องง่ายในการรวมหลัก ESG หรือสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG: Environment-Social-Governance) ที่นักลงทุนต้องการในตอนนี้เข้าไว้ด้วยกัน

 

ดังนั้น การเริ่มต้นที่ล่าช้านี้ ถ้ามองในเชิงบวกก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่อาร์เจนตินาจะได้นำแนวคิด ESG มาใช้ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ