“วิโดโด” พบ “อีลอน มัสก์” ดึงลงทุนผลิตแบตฯรถ EV ในอินโดฯ

17 พ.ค. 2565 | 03:33 น.

“โจโค วิโดโด” ผู้นำอินโดนีเซีย เข้าพบ “อีลอน มัสก์” ผู้ก่อตั้งบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าเทสลา ขณะเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาบทามให้เทสลาเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรียานยนต์ไฟฟ้า ปั้นอินโดฯ เป็นฮับรถ EV ในอาเซียน

สื่อต่างประเทศตีข่าว นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย พบหารือกับ นายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทสลา (Tesla Motors) เป็นนัดพิเศษที่รัฐเท็กซัสเมื่อวันเสาร์ (15 พ.ค.) ฮือฮาเสียยิ่งกว่าข่าวการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ของนายวิโดโดที่มีประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพที่กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค.ที่ผ่านมาเสียอีก

 

เนื่องจากงานนี้เป็นที่รู้ดีกันว่า ผู้นำอินโดนีเซียได้พยายามเชิญชวนให้นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันและเป็นบุคคลที่ร่ำรวยเป็นอันดับ1 ของโลก เข้าไป ลงทุนผลิตแบตเตอรียานยนต์ไฟฟ้า ในอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยพยายามชูจุดเด่นของอินโดนีเซียที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ “นิกเกิล” ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการผลิตแบตเตอรียานยนต์ไฟฟ้า

 

ภาพที่เห็นผ่านสื่อคือประธานาธิบดีในเสื้อเชิ้ตสบาย ๆ ไม่ใส่สูท กำลังสนทนาอย่างออกรสชาติกับนายอีลอน มัสก์ ซึ่งใส่เสื้อยืดสีดำและกางเกงยีนส์แบบลำลอง สะท้อนความเป็นกันเอง โดยสถานที่ที่บุคคลทั้งสองพบเจอกันในเมืองโบคา ชิกา มลรัฐเท็กซัส นั้นก็คือออฟฟิศและฐานยิงจรวดของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่มัสก์เป็นผู้ก่อตั้งนั่นเอง

การพบปะอย่างเป็นกันเองของผู้นำอินโดนีเซียและนายอีลอน มัสก์ ผู้บริหารเทสลา

ผู้นำอินโดนีเซียใช้โอกาสนี้พยายามขายโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ รวมทั้งเพื่อการส่งออกด้วย โดยคาดหวังให้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน พาดหัวข่าวของรอยเตอร์ ระบุว่า Indonesia's Jokowi meets Tesla's Musk after nickel talks  “โจโควี” ซึ่งเป็นชื่อเรียกผู้นำอินโดนีเซีย ได้พบนายมัสก์ หลังการหารือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแร่นิกเกิล

 

ตามการเปิดเผยของรัฐบาลอินโดนีเซีย ทั้งคู่พบกันเมื่อวันเสาร์ (15 พ.ค.) เพื่อหารือเรื่องเทคโนโลยีและแผนการลงทุนในอินโดนีเซีย โดยก่อนหน้านั้น มีการหารือระดับเจ้าหน้าที่ในเรื่องโอกาสการลงทุนอุตสาหกรรมนิกเกิลในอินโดนีเซีย และการจัดหาแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

 

เจ้าหน้าที่ทางการอินโดนีเซียและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการหารือของบุคคลทั้งสอง เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ตัวแทนจากเทสลาในอินโดนีเซียได้ร่วมหารือกับทางการอินโดนีเซียเกี่ยวกับการลงทุนแบตเตอรี่ซึ่ง “มีความเป็นไปได้” ในอินโดนีเซีย แต่ทางเทสลายังไม่มีใครออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

นายอีลอน มัสก์ พานายวิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ชมสถานที่ด้วยตัวเอง

รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียพยายามบรรลุข้อตกลงการค้าการลงทุนกับเทสลา ในเรื่องการลงทุนผลิตแบตเตอรี่และความเป็นไปได้ในการลงทุนกับบริษัทสเปซเอ็กซ์ของนายอิลอน มัสก์ด้วย หลังจากที่นายมัสก์ได้ออกมาเปรย ๆเมื่อปีที่แล้ว (2564) ว่า เขาสนใจที่จะสร้างฐานยิงจรวด-ดาวเทียม ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ในหมู่เกาะที่ห่างไกลของอินโดนีเซีย  

 

หลังการพบปะกันในครั้งนี้ นายอีลอน มัสก์ เปิดเผยว่า เขาอาจจะหาโอกาสไปเยือนอินโดนีเซียในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพการประชุมจี 20 ที่เกาะบาหลี นายมัสก์ระบุว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพสูงมากจากการที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในอาเซียนคือ 270 ล้านคน นอกจากนี้ เขาจะศึกษาความเป็นไปในการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจในทางใดทางหนึ่งกับอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิดทั้งในแง่ของเทสลาและของสเปซเอ็กซ์ด้วย

 

รายงานข่าวระบุว่า หากความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนให้อินโดนีเซียกลายเป็นข้อต่อหนึ่งที่สำคัญในระบบซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกท่ามกลางกระแสการรณรงค์ลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ

  

ทั้งนี้ อินโดนีเซียยังเป็นแหล่งแร่นิกเกิลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ผู้นำอินโดนีเซียหวังที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรภายในประเทศ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การผลิตแร่นิกเกิลซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรียานยนต์ไฟฟ้า  การผลิตส่วนประกอบแบตเตอรี่ รวมไปถึงการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า

 

ก่อนหน้านี้ มี บริษัทแอลจีของเกาหลีใต้ ผู้ผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อันดับสองของโลก ที่ประกาศเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ว่าจะลงทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซีย ครอบคลุมการผลิตแร่ไปจนถึงผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย และ บริษัทแอมเพเร็กซ์ เทคโนโลยี ของจีน คู่แข่งของแอลจีและเป็นผู้ส่งออกแบตเตอรีให้กับเทสลา ที่ประกาศการลงทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซียเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเช่นกัน