svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

เปิดอาณาจักรธุรกิจ “อีลอน มัสก์” หลังปิดดีลซื้อทวิตเตอร์

27 เมษายน 2565

เกิดเป็น "อีลอน มัสก์" มหาเศรษฐีนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในโลก จะหยิบจับทำอะไรก็เป็นที่สนใจไปทุกย่างก้าว ล่าสุดทุ่ม 1.5 ล้านล้านบาทซื้อกิจการ “ทวิตเตอร์” แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ยอดนิยมมาครอบครอง ยิ่งตอกย้ำว่า “มัสก์ทำได้ทุกอย่าง” และเขาจะใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโลก

นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เป็นอภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกันอายุ 50 ปี ที่ ร่ำรวยที่สุดในโลก ความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินที่ถือครองอยู่มีมูลค่ารวม 264,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9 ล้านล้านบาทเมื่อต้นปีนี้ (จากข้อมูลของ The Bloomberg Billionaires Index ) เขาได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็นบุคคลแห่งปี หรือ Person of the Year 2021 ในฐานะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นตัวอย่างของคนร่ำรวย ที่นำเสนอทางออกสำหรับวิกฤติการดำรงอยู่ของมนุษย์และขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

 

ล่าสุด มัสก์พูดถึงการตัดสินใจซื้อธุรกิจ “ทวิตเตอร์” ที่ทุ่มทุนไป 44,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาทว่า เขาไม่ได้สนใจเรื่องเงินๆ ทองๆ แม้แต่นิดเดียว ไม่ได้กังวลเรื่องผลประกอบการของทวิตเตอร์ด้วย สนใจแต่ว่าเขาอยากมีแพลตฟอร์มสาธารณะที่ “ไว้ใจได้สูงสุด” ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของความศิวิไลซ์

 

ถึงแม้ทวิตเตอร์จะมีขนาดเพียงแค่ 1 ใน 10 ของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่กว่าอย่างเฟซบุ๊ก แต่ทวิตเตอร์ก็มีความสำคัญเกินขนาดมาก ในแง่บทบาทของมันที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในโลก ทวิตเตอร์ถูกยกเครดิตเป็นสื่อหลักในการช่วยโหมกระพือการปฏิวัติในตะวันออกกลางที่เรียกว่า "อาหรับสปริง" และยังมีบทบาทในเหตุจู่โจมอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2564 ด้วย

เรามาดูกันว่า นอกจากน้องใหม่ล่าสุดอย่างทวิตเตอร์แล้ว อาณาจักรธุรกิจของ “อีลอน มัสก์” มีอะไรบ้าง ชื่อบริษัทอะไรและมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน เรารวบรวมมาไว้ให้ตรงนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจที่เขาเคยบริหาร และปัจจุบันได้ขายออกไปแล้วด้วย สื่อต่างประเทศบางรายเรียก "อีลอน มัสก์" ว่า เป็นนักธุรกิจที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ครอบคลุมทุกกิจกรรมการใช้ชีวิตของมนุษยชาติ ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงพลังงานหมุนเวียน และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง (มูลค่าตลาดเป็นข้อมูล ณ เดือนม.ค. 2565)

เปิดอาณาจักรธุรกิจของอีลอน มัสก์

1. เทสลา (TESLA)

ประเภทธุรกิจ : ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

มูลค่าตลาด : 1.02 ล้านล้านดอลลาร์

 

2. สเปซเอ็กซ์ (SPACEX)

ประเภทธุรกิจ : อวกาศ

มูลค่าตลาด : 100,000 ล้านดอลลาร์

 

3. โซลาร์ซิตี (SOLARCITY)

ประเภทธุรกิจ : พลังงานหมุนเวียน

มูลค่าตลาด : เทสลาซื้อกิจการโซลาร์ซิตีมาด้วยมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์

4. เพย์พาล (PAYPAL) (ขายกิจการไปแล้ว)

ประเภทธุรกิจ : ชำระเงินออนไลน์

มูลค่าตลาด : ขายกิจการให้อีเบย์ (EBAY) ไปในมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์

 

5. เดอะ บอริง (THE BORING CO.)

ประเภทธุรกิจ : ก่อสร้างอุโมงค์

มูลค่าตลาด : 920 ล้านดอลลาร์

 

6. นิวรัลลิงค์ (NEURALINK)

ประเภทธุรกิจ : ประสาทเทคโนโลยี

มูลค่าตลาด : มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์

 

7. ซิปทู (ZIP2) (ขายกิจการไปแล้ว)

ประเภทธุรกิจ : ไดเร็กทอรีธุรกิจออนไลน์

มูลค่าตลาด : ขายกิจการให้ HP ไปในมูลค่า 307 ล้านดอลลาร์

 

8. โอเพน เอไอ (OPEN AI)

ประเภทธุรกิจ : วิจัยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

มูลค่าตลาด : ไม่มีข้อมูล

 

ดูอันดับความร่ำรวยของอีลอน มัสก์ในทำเนียบเศรษฐี The Bloomberg Billionaires Index คลิก ที่นี่

ดูอันดับความร่ำรวยของอีลอน มัสก์ในทำเนียบเศรษฐี Forbes The Richest People In The World คลิกที่นี่

 

สำหรับ “ทวิตเตอร์” มัสก์ยื่นขอซื้อบริษัทด้วยข้อเสนอ 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น ภายหลังจากที่มีข่าวมัสก์ตกลงซื้อกิจการได้สำเร็จเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา หุ้นของทวิตเตอร์ปรับขึ้น 5.77% ไปปิดที่ 51.70 ดอลลาร์ แต่กระนั้นยังคงต่ำกว่าระดับ 70 ดอลลาร์ ที่ซื้อขายกันเมื่อปีที่แล้ว

 

“เสรีภาพในการพูดเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และทวิตเตอร์ก็เป็นเหมือนจัตุรัสแห่งเมืองดิจิทัลที่มีไว้ให้ผู้คนได้ถกเถียงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติ” มัสก์ระบุในแถลงการณ์ซื้อกิจการ

 

ความเคลื่อนไหวของอีลอน มัสก์ ครั้งนี้ ถือเป็นการสานต่อธรรมเนียมปฏิบัติของบรรดาอภิมหาเศรษฐีทั้งหลาย ที่ยอมทุ่มเงินเข้าซื้อเพื่อจะได้ “ครอบครอง” และ “ควบคุม” แพลตฟอร์มสื่อทรงอิทธิพลในด้านต่างๆ เช่น การเข้าซื้อสื่อใหญ่ “นิวยอร์กโพสต์” และ “วอลล์สตรีท เจอร์นัล” ของนายรูเพิร์ต เมอร์ด็อค ในปี 2519 และปี 2550 ตามลำดับ รวมทั้งการซื้อ “วอชิงตันโพสต์” ของนายเจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซแอมะซอนในปี 2556