ทำความรู้จัก “วัคซีน RNA วงแหวน” ของจีน ต้านโควิดสายพันธุ์โอมิครอน-เดลตา

07 เม.ย. 2565 | 02:55 น.

เมื่อเร็ว ๆนี้ จีนได้ประกาศพัฒนาการด้านวัคซีนป้องกันโควิดรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “วัคซีน RNA วงแหวน” เป็นอีกความหวังที่จะนำมาใช้ต้านทั้งไวรัสโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” และ "เดลตา” แม้จะยังอยู่ในขั้นของการทดลอง เรามาทำความรู้จักวัคซีนชนิดนี้กัน  

คณะนักวิทยาศาสตร์จีน เสนอกลยุทธ์การผลิต วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบใหม่ ที่เรียกว่าวัคซีนอาร์เอ็นเอแบบวงแหวน (circRNA) ซึ่งอาจกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสโควิดทั้งสายพันธุ์ โอมิครอน และสายพันธุ์ เดลตา

 

จากการรายงานของสำนักข่าวซินหัวอ้างอิงผลการศึกษาในวารสารเซลล์ (Cell) ระบุว่า คณะนักวิจัยของจีนนำโดย เว่ย เหวินเซิ่ง จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้พัฒนาแพลตฟอร์มผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 รุ่นใหม่ ที่เรียกว่า วัคซีนอาร์เอ็นเอแบบวงแหวน หรือ circRNA ที่กระตุ้นแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในระดับสูง สามารถป้องกันเชื้อไวรัสฯ ในหนูและลิง

 

ความแตกต่างจากวัคซีนแบบเดิม ๆ

  • คณะวิจัยของจีนระบุว่า วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เช่นวัคซีนของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา มุ่งโจมตีโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นหลัก แต่วัคซีนที่มีโครงสร้างอาร์เอ็นเอแบบเส้น มักพลาดเป้าหมายในการลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์ที่อุบัติขึ้นมาใหม่
  • แต่ วัคซีนอาร์เอ็นเอแบบวงแหวน (circRNA) ซึ่งมาพร้อมโครงสร้างวงแหวนลักษณะปิด มีความเสถียรมากกว่าวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ และสามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่อาศัยสารน้ำและเซลล์อย่างมีศักยภาพมากขึ้น
  • นอกจากนี้ วัคซีนอาร์เอ็นเอแบบวงแหวน (circRNA) ยังกระตุ้นแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในระดับสูง สามารถป้องกันเชื้อไวรัสฯ ในหนูและลิง อีกทั้งยังสร้างการตอบสนองของทีเซลล์ (T cell) ซึ่งเป็นหนึ่งในเซลล์สำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่ป้องกันโรคโควิด-19 และอาจช่วยลดความเสี่ยงป่วยหนักในกลุ่มคนที่เคยฉีดวัคซีนและติดเชื้อไวรัสฯ ในเวลาต่อมา (VAED) เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน

วัคซีนอาร์เอ็นเอแบบวงแหวน (circRNA) สามารถกระตุ้นแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในระดับสูง

ความหวังในการรับมือทั้งสองสายพันธุ์

การศึกษาพบว่า หนึ่งในวัคซีนอาร์เอ็นเอแบบวงแหวนที่มุ่งโจมตีเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน สามารถสร้างแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ต่อโอมิครอน แต่ไม่ครอบคลุมสายพันธุ์เดลตา ขณะวัคซีนอีกตัวที่มีเป้าหมายเป็นสายพันธุ์เดลตาสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้ทั้งสองสายพันธุ์ หรือทำหน้าที่เป็นวัคซีนโดสกระตุ้น ตามหลังการฉีดวัคซีนสองโดสก่อนหน้า

ด้วยเหตุนี้ คณะนักวิจัยจึงสรุปว่าวัคซีนอาร์เอ็นเอแบบวงแหวน (circRNA) มีศักยภาพสำหรับพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทางเลือกที่ใช้งานในวงกว้างต่อไปได้ เป็นอีกหนึ่งความหวังในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่กำลังแพร่ระบาดหนักในจีนอีกครั้ง