วิเคราะห์ลักษณะ 3 ผู้นำ "ปูติน-ไบเดน-เซเลนสกี" จากวิกฤตยูเครน

25 มี.ค. 2565 | 06:16 น.

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปกติแล้วความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นระหว่างผู้นำประเทศที่มีสไตล์การบริหารประเทศคล้ายคลึงกัน แต่ในกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั่วโลกสามารถเห็นลักษณะความเป็นผู้นำทั้ง 3 สไตล์ที่แตกต่างของ "ปูติน-ไบเดน-เซเลนสกี" ได้อย่างชัดเจน

วอยซ์ออฟอเมริกา (วีโอเอ) สื่อใหญ่ของสหรัฐ ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ ลักษณะของ 3 ผู้นำ คนสำคัญจากวิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเอาไว้อย่างน่าสนใจ ฉายภาพลักษณะการใช้กลยุทธ์และความเป็นผู้นำที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในเหตุการณ์นี้ ของ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี  ประธานาธิบดียูเครน และ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

 

นายแซมมูเอล ฮันเตอร์ อาจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเนบราสกา (University of Nebraska) ที่เมืองโอมาฮา ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า ปกติแล้วความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นระหว่างผู้นำประเทศที่มีสไตล์การบริหารประเทศคล้ายคลึงกัน แต่ในกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั่วโลกสามารถเห็นลักษณะความเป็นผู้นำทั้ง 3 สไตล์ของ 3 บุคคลสำคัญได้อย่างชัดเจน โดยรายละเอียดมีดังนี้

 

ปูติน: ผู้นำหัวอุดมการณ์

นายเคนเนธ เดเคลวา จิตแพทย์และนักวิเคราะห์อาวุโสที่สถาบัน George H. W. Bush Foundation ชี้ว่า ปธน.ปูตินเป็นคนประเภท “ผู้นำหัวอุดมการณ์”

 

“ปูตินเป็นผู้นำที่โหดเหี้ยมและเผด็จการที่ใช้ความรุนแรงมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งก่อนจะเกิดการบุกรุกยูเครน หลายคนมองว่าปูตินนั้นฉลาดและมีกลยุทธ์ดี” เดเคลวา กล่าว และอธิบายว่า ผู้นำรัสเซียได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าเขามีร่างกายที่แข็งแรงและมีความเป็นชายสูง ถ่ายรูปตนเองทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ขี่ม้าโดยไม่สวมเสื้อ ตกปลา ถือปืนไรเฟิล หรือกระทั่งทุ่มร่างของศัตรูในศึกประลองศิลปะป้องกันตัว

ปูติน: ผู้นำหัวอุดมการณ์

ไมเคิล เบลก อาจารย์ด้านจิตวิทยาและนโยบายภาครัฐแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ชี้ว่า รูปแบบความเป็นผู้นำของปธน. รัสเซียสะท้อนให้เห็นถึงการปกครองแบบเก่าที่ผู้คนคุ้ยเคย ซึ่งปูตินจะแสดงความกำยำราวกับได้รับเลือกมาจากเบื้องบนเพื่อเป็นผู้ปกครอง การทำเช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์และยังเกี่ยวข้องกับลัทธิฟาสซิสต์อีกด้วย แต่ก็ไม่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะหากพิจารณาผู้ฝักใฝ่ฟาสซิสต์คนอื่นๆ

 

เซเลนสกี: ผู้นำบุคลิกน่าดึงดูด

ด้านประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งกลายเป็นขวัญใจผู้คนจำนวนมากนั้น เป็นคนที่มีมาดผู้นำสูงและมีบุคลิกน่าดึงดูดความสนใจ ส่วนหนึ่งเพราะเขาเคยเป็นนักแสดงและดาราตลกมาก่อน เขาได้สร้างความประหลาดใจต่อคนจำนวนมากหลังจากที่ได้แสดงความกล้าหาญและมุ่งมั่นที่จะปกป้องประเทศของตนเองเมื่อถูกรัสเซียบุกตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นมา

 

นายแซมมวล ฮันเตอร์ อาจารย์จิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเนบราสกา (University of Nebraska) กล่าวว่าลักษณะผู้นำของเซเลนสกีนั้น เปี่ยมไปด้วยความหวัง ความรู้สึกที่ต้องการจะเห็นความเปลี่ยนแปลงและอนาคตที่สดใสกว่าที่เป็นอยู่ และเขาก็พร้อมจะทำสิ่งต่างๆเพื่อให้เป้าหมายเหล่านั้นลุล่วง ปธน. เซเลนสกีสามารถสะกดผู้คนด้วยสารที่เขาสื่อและบุคลิกข้างต้น

เซเลนสกี: ผู้นำบุคลิกน่าดึงดูด

ท่าทีของเซเลนสกีทำให้หลายคนรู้สึกว่า “ประเมินผู้นำคนนี้ต่ำไป” เพียงเพราะเขาไม่มีประสบการณ์การเมืองมากพอ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เซเลนสกีมาจากสายอาชีพนักแสดงเท่านั้น

นอกจากนี้ ไมเคิล เบลก อาจารย์ด้านจิตวิทยาและนโยบายภาครัฐ ยังกล่าวเสริมว่า ผู้นำยูเครนได้แสดงถึงความเป็นผู้นำในรูปแบบใหม่ โดยปธน. เซเลนสกี ไม่ได้พยายามสร้างภาพว่าเขาไม่หวาดหวั่นกับสิ่งใด แต่กลับใช้การแสดงออกความเป็นตนเองที่บางครั้งรู้สึกกลัวหรือถูกถาโถมด้วยเรื่องยากๆ โดยเฉพาะเมื่อตอนที่สหรัฐยื่นมือเข้าไปช่วยและอาสาจะอพยพผู้นำยูเครน

 

ปธน. เซเลนสกีได้แสดงจุดยืนที่ทำให้หลายคนจดจำเขาได้ โดยเขากล่าวว่า “การต่อสู้อยู่ที่ประเทศยูเครน ผมต้องการอาวุธ ไม่ใช่ทางหนี”

 

ไบเดน: ผู้นำปฏิบัตินิยม

ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐนั้น นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเนบราสกา จัดให้เขาอยู่ในหมวด ผู้นำสาย “ปฏิบัตินิยม” ซึ่งหมายถึงการเน้นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในการรับมือกับวิกฤตรัสเซียและยูเครน

 

ผู้นำลักษณะนี้ส่วนใหญ่ใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล และมักมีการใช้ข้อมูลและตัวเลข ซึ่งในหลายๆครั้ง ผู้นำเหล่านี้ค่อนข้างเป็นมีบุคลิกที่ “น่าเบื่อ”

 

ปธน.ไบเดน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนได้ส่วนเสียของสหรัฐในสงครามข้างต้นมากและพยายามไม่ให้สหรัฐได้รับความเสียหายใดๆจากความขัดแย้ง เขาจึงใช้การเจรจาและร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างเครือข่ายที่มั่นคงและใช้มาตรการทางเศรษฐกิจในการลงโทษรัสเซีย แตกต่างจากการใช้กำลังทางการทหารอย่างชัดเจน

ไบเดน: ผู้นำปฏิบัตินิยม

ทั้งนี้ ปธน. ไบเดนเป็นนักการเมืองมายาวนานตั้งแต่ปี 1972 โดยเริ่มจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ และได้รับเลือกในตำแหน่งเดิมถึง 6 ครั้ง จากนั้นเขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐภายใต้รัฐบาลของปธน.บารัค โอบามาถึง 8 ปี เขาจึงสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด และแม้ ปธน.ไบเดน จะมีคุณสมบัติคล้ายกับผู้นำยูเครน แต่เขามักมีโอกาสน้อยกว่าที่จะแสดงสิ่งนี้ออกมา

 

ผลลัพธ์และทางออกของสงครามมักจะขึ้นอยู่กับภาวะและลักษณะความเป็นผู้นำของแต่ละคน ซึ่งในกรณีของปธน. ปูติน ที่กำลังจะถูกต้อนให้จนมุม นายเคนเนธ เดเคลวา จิตแพทย์และนักวิเคราะห์อาวุโสที่สถาบัน George H. W. Bush Foundation แนะว่า ควรหาทางลดความขัดแย้งของสงคราม ด้วยการแสดงความเห็นใจแบบหวังผลเชิงยุทธวิธี หรือ tactical empathy

 

นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า วิธีนี้อาจทำให้ผู้นำรัสเซียรู้สึกว่าเขาประสบความสำเร็จในการทำสงครามทางใดทางหนึ่ง และไม่เสียหน้า จนในที่สุดยอมถอยทัพกลับไปประเทศของตน

 

ที่มา: วีโอเอ