"ปูติน" เป็น "อาชญากรสงคราม" หรือไม่ เมื่อไหร่จะใช้คำนี้ได้

21 มี.ค. 2565 | 04:44 น.

ปธน.โจ ไบเดน กล่าวประณามนายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียว่าเป็น "อาชญากรสงคราม" คำนี้ใช่ว่าจะกล่าวพาดพิงหรืออ้างใช้กับใครได้ง่ายๆ เพราะต้องมีกระบวนการตัดสินและคำนิยามที่ชัดเจน เรามาดูกันว่า "อาชญากรสงคราม" นั้นต้องทำความผิดลักษณะใดบ้างจึงจะเรียกว่าเข้าข่าย 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกาได้ออกมากล่าวหาและประณามว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เป็น อาชญากรสงคราม (war criminal) หลัง กองทัพรัสเซีย รุกหนักเข้าโจมตีทางอากาศที่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ใน ยูเครน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การจะระบุว่า ใครเป็น "อาชญากรสงคราม" ได้นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะหยิบยกขึ้นมากล่าวกันได้ง่ายๆ เพราะการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีกระบวนการตัดสินและคำนิยามที่ชัดเจนว่า ผู้ใดพึงถูกกล่าวหาและถูกลงโทษด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม

 

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ออกมาชี้แจงภายหลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดนเอ่ยปากใช้คำนี้เรียกขานผู้นำรัสเซียว่า ปธน.ไบเดนใช้ความรู้สึกจากใจพูดออกมา และย้ำว่า ถึงอย่างไรก็จะต้องมีกระบวนการทางกฎหมายเพื่อพิจารณาและตัดสินก่อนที่จะใช้คำนี้ได้อย่างเป็นทางการ

 

“อาชญากรสงคราม” ใช้ได้เมื่อไหร่ กับใคร

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า คำว่า อาชญากรสงคราม หรือ war criminal นั้นหมายถึง ผู้ใดก็ตามที่ละเมิดกฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธ (the law of armed conflict) ซึ่งกฎเหล่านี้ได้รับการยอมรับโดยผู้นำทั่วโลก และประเทศต่างๆยังใช้เป็นข้อปฏิบัติในยามสงครามอีกด้วย

ทั้งนี้ กฎข้างต้นระบุชัดเจนถึงประเภทของอาวุธที่สามารถใช้ในการทำสงครามและกลุ่มบุคคลที่ร่วมต่อสู้ได้

ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของกฎถูกปรับแก้และขยายให้ครอบคลุมสิ่งต่างๆมากขึ้นในศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการทำ “อนุสัญญาเจนีวา” เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ที่มีการห้ามการใช้อาวุธทางเคมีชีวภาพในการทำสงคราม

 

จุดประสงค์หลักของกฎเหล่านี้ คือ การป้องกันผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนร่วมในสงครามและผู้ที่ไม่สามารถทำสงครามต่อไปได้ โดยบุคคลในกลุ่มนี้รวมถึง แพทย์ พยาบาล ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เชลยศึก

 

ต้องทำผิดอย่างไรจึงจะเข้าข่ายอาชญากรสงคราม

การกระทำผิดที่เข้าข่ายการทำอาชญากรรมสงครามจะต้องเป็นการละเมิดกฎขั้นร้ายแรง (grave breaches) ซึ่งรวมถึง การฆ่าโดยตั้งใจและทำลายล้างพื้นที่เป็นวงกว้างเกินความจำเป็นทางทหาร การโจมตีผู้บริสุทธิ์ การใช้กำลังที่เกินควร การใช้มนุษย์เพื่อเป็นโล่ป้องกันจากข้าศึก (human shields) และการจับตัวประกัน

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) หรือ ICC จะดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเมื่อบริบทสงครามอยู่ในรูปแบบ “การโจมตีผู้บริสุทธิ์ในวงกว้างอย่างเป็นระบบ” เช่น การฆาตกรรม การทรมาน การข่มขืน และการบังคับให้เป็นทาสกามารมณ์ (sexual slavery)

 

สำนักข่าวเอพีชี้ว่า โอกาสที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียจะเข้าข่ายเป็น “อาชกรสงคราม” ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานการเป็นผู้รับผิดชอบในการบังคับบัญชาการก่ออาชญากรรมสงครามมามัดตัว เพราะหากผู้บังคับบัญชาสั่ง รับทราบ หรือ รู้เห็นการทำอาชญากรรมข้างต้นแต่ไม่มีการกระทำใดๆ เพื่อจะหยุดยั้งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ผู้นั้นจะถือว่า มีความผิดตามกฎหมาย

 

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (17 มี.ค.)ว่า ขณะนี้ สหรัฐกำลังทำการประเมินและ “รวบรวมหลักฐาน” การก่ออาชญากรรมสงครามของรัสเซีย โดยเฉพาะการตั้งเป้าโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ์ พร้อมยืนยันว่า รัสเซียจะต้องเผชิญกับ “ผลลัพธ์ที่สาหัส” กับการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายอาชญกรรมดังกล่าว

ความบอบช้ำจากสงครามกระทบพลเรือนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

หนทางสู่ความยุติธรรมต้องดำเนินการเช่นไร

โดยทั่วไปแล้ว การสืบสวนและตัดสินคดีอาชญากรสงครามมี 4 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อจำกัดอยู่

 

  • วิธีแรก คือการขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court)
  • วิธีที่สองคือ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่งเรื่องที่คณะกรรมาธิการสอบสวนของตนรวบรวมได้ ไปให้ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินคดีกับประธานาธิบดีปูติน
  • วิธีที่สาม คือ การตั้งศาลพิเศษขึ้นมาและให้สิทธิ์แก่กลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) สหภาพยุโรป(อียู) และสหรัฐอเมริกา ในการพิจารณาคดีกับผู้นำรัสเซีย คล้ายๆกับเมื่อครั้งการตั้งศาลทหารที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg) พิจารณาคดีผู้นำนาซี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
  • วิธีที่สี่ คือ บางประเทศก็มีกฎหมายของตัวเองในการดำเนินคดีกับอาชญากรสงคราม ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนีที่ได้เริ่มการสืบสวนกรณีของผู้นำรัสเซียแล้ว แต่สหรัฐอเมริกายังไม่มีกฎหมายประเภทดังกล่าว เพียงแต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐนั้น มีมาตรากฎหมายพิเศษที่มุ่งเน้นการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทรมาน การฝึกทหารเด็ก และการทำลายหรือการตัดอวัยวะเพศหญิงอย่างจงใจโดยปราศจากเหตุผลทางการแพทย์

 

ถ้าจะนำปูตินขึ้นพิจารณาคดีข้อหาอาชญากรสงคราม จะทำได้ที่ไหน

จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า การดำเนินคดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ โดยส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะ รัสเซียไม่ได้ยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)  และจะไม่ยอมส่งผู้ต้องสงสัยคนใดไปยังกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นอันขาด ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกับของสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลแห่งนี้เช่นกัน

 

และหากจะมีการดำเนินคดีว่าด้วยอาชญากรรมสงครามต่อผู้นำรัสเซียขึ้นมาจริง กระบวนการศาลอาจมีขึ้นในประเทศที่องค์การสหประชาชาติ หรือกลุ่มประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเลือกให้ แต่จุดที่ยากในเรื่องนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้ผู้นำรัสเซียเดินทางไปร่วมการไต่สวนต่างหาก แค่คิดก็ยากแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สหรัฐและอีก 44 ประเทศได้ร่วมกันเริ่มการสืบสวนการกระทำที่เข้าข่ายความผิดร้ายแรงและการละเมิดกฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธของผู้นำรัสเซียแล้ว หลังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ได้ผ่านการลงคะแนนให้ตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวนขึ้น (a commission of inquiry)

 

ในอดีตเคยมีผู้นำคนใดเคยถูกตัดสินเป็นอาชญากรสงครามบ้าง

ย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ในอดีต ดูประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะพบว่า มีผู้นำคนหลายคนที่เคยถูกตัดสินเป็นอาชญากรสงครามมาบ้างแล้ว อาทิ

  • นายสโลโบดาน มิโลเซวิช อดีตผู้นำยูโกสลาเวีย ถูกยูเอ็นนำขึ้นศาลในกรุงเฮก ประเทศเนธอร์แลนด์ แต่เขาเสียชีวิตในที่คุมขังก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาออกมา
  • นายราโดแวน คาราดซิก อดีตผู้นำทางการเมืองของชาวเซิร์บ และนายรัตโก มลาดิช ผู้นำกองทัพบอสเนียเซิร์บ ซึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดและขณะนี้ยังคงรับโทษจำคุกตลอดชีวิตอยู่
  • นายชาร์ลส์ เทย์เลอร์ อดีตประธานาธิบดีประเทศไลบีเรีย ถูกศาลพิเศษในประเทศเซียร์ราลีโอน ตัดสินจำคุกในประเทศอังกฤษ 50 ปี โทษฐานให้การสนับสนุนการจลาจลที่ทำให้เกิดการล้มตายเป็นจำนวนมากในเซียร์ราลีโอน
  • นายฮิสซีน ฮาเบอร์ อดีตผู้นำเผด็จการประเทศชาด (Chad) เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว เขาเป็นบุคคลระดับประมุขแห่งรัฐคนแรกที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตโดยศาลในแอฟริกา โทษฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

ข้อมูลอ้างอิง

EXPLAINER: Who’s a war criminal, and who gets to decide?