26 ธันวาคมของทุกปี มีชื่อเรียกขานว่า “บ็อกซิงเดย์” (Boxing Day) ซึ่งมีความหมายและที่มาเกี่ยวเนื่องกับวันคริสต์มาสมาตั้งแต่อดีตกาล ในหลายประเทศถือวันนี้เป็นวันหยุดธนาคารและวันหยุดราชการ เห็นชื่ออย่างนี้ ต้องบอกไว้ก่อนว่า ที่มาไม่เกี่ยวกับกีฬาชกมวยแต่อย่างใด
วันคริสต์มาส (Christmas Day) นั้นตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี คริสตศาสนิกชนถือเป็น วันประสูติของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ โดยพระองค์ประสูติที่เมืองเบ็ธเลเฮ็มและเติบโตที่เมืองนาซาเรท ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล ดังที่พวกเรารู้กัน
เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู และเป็นการฉลองความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์โลก โดยพระองค์ส่งบุตรชาย คือ "พระเยซู" ลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อช่วยไถ่บาปและช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากการทำชั่วทั้งปวง ดังนั้น เนื่องในเทศกาลสำคัญนี้ ชาวคริสต์ทั่วโลกจึงส่งบัตรอวยพรและมอบของขวัญให้แก่กัน ทั้งยังประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนด้วยแสงไฟ และต้นคริสต์มาสอย่างสวยงาม
วันก่อนวันคริสต์มาสเราเรียกว่า “คริสต์มาสอีฟ” (24 ธันวาคม) ส่วนวันถัดจากวันคริสต์มาส หรือวันที่ 26 ธันวาคม ก็มีชื่อเรียกเช่นกัน นั่นก็คือ “บ็อกซิงเดย์” (Boxing Day) ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการต่อยมวย หรือกีฬา boxing
วันเปิดกล่องของขวัญและแสดงความ “เกื้อการุณ”
วันที่ 26 ธันวาคม หรือ “บ็อกซิงเดย์” คำว่า box หมายถึงกล่องของขวัญที่สมาชิกในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย หรือผู้ที่ปรารถนาดีต่อกัน มอบให้กันในวันคริสต์มาสนั่นเอง พูดง่าย ๆ คือวันนี้เป็นวันเปิดกล่องของขวัญ ในหลายประเทศโดยเฉพาะในอังกฤษและประเทศเครือจักรภพ ถือเป็นวันหยุดธนาคารหรือวันหยุดราชการ นอกจากนี้ ยังเป็นวันที่มีการมอบของขวัญให้กับบุคคลด้อยโอกาสในสังคมด้วย
ถ้าวันที่ 26 ธันวาคมของปีไหน ตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ (เช่นในปีนี้) ก็จะมีการประกาศหยุดชดเชยวันบ็อกซิ่งเดย์ในวันจันทร์
ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตกาล วันนี้ (26 ธันวาคม) จะเป็นวันที่ศิษยาภิบาลเปิด "กล่องทาน" ในโบสถ์ และแจกเงินให้สมาชิกที่ยากจน บางตำนานก็ว่า ในเรือของคนอังกฤษที่เดินทางไปค้าขายหรือมองหาเมืองขึ้น จะมี “กล่อง” ประจำเรืออยู่กล่องหนึ่งซึ่งปลุกเสกทำพิธีโดยบาทหลวง และในกล่องนั้นจะมีเงินใส่ไว้จำนวนหนึ่งถือเป็นกล่องศักดิ์สิทธิ์ประจำเรือ จนเมื่อเดินทางถึงบ้านโดยปลอดภัย กัปตันเรือจะขนกล่องที่มีเงินดังกล่าวไปให้กับพระหรือบาทหลวงเป็นการขอบคุณ บาทหลวงท่านก็จะเก็บไว้ รอจนถึงทำพิธีคริสต์มาสเสร็จ วันรุ่งขึ้น (26 ธันวาคม) ก็จะเปิดกล่อง แล้วนำเงินในกล่องไปซื้อของขวัญบรรจุกล่องใหม่เป็นกล่องเล็กๆ ส่งต่อไปให้คนยากจน
ต่อมาช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษถือวันนี้เป็นวันมอบกล่องของขวัญ (Box)ให้แก่พวกคนรับใช้ ซึ่งอาจเป็นเสื้อผ้า อาหาร หรือเงิน นอกจากนี้ ยังมีการมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ต่างๆ เพื่อเป็นการตอบแทนที่พวกเขาได้ทำงานและจัดการเฉลิมฉลองในช่วงคริสต์มาส เป็นการแสดงถึงความขอบคุณและไมตรีจิตอันดี คล้ายกับการแจกโบนัสที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง
จากนั้นมา ก็มีการแจกของขวัญให้กับบุคคลด้อยโอกาสในสังคมในวันบ็อกซิงเดย์นี้ด้วย ถือเป็นวันแห่งการแสดงความเอื้อเฟื้อและเมตตากรุณาต่อกันและกัน
กิจกรรมห้างลดราคาและกีฬาฟุตบอล
ในโอกาสต่อมานั้น ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวันบ็อกซิงเดย์ เช่นกิจกรรมถล่มราคาสินค้าโดยห้างร้านในสหราชอาณาจักร ประเทศเครือจักรภพ รวมถึงแคนาดา ห้างสรรพสินค้าจะจัดลดราคา (Boxing Day Sales) ซึ่งผู้คนจะออกมาต่อแถวเพื่อรอประตูห้างเปิดตั้งแต่เที่ยงคืน
หรือในแวดวงฟุตบอล โดยเฉพาะฟุตบอลอังกฤษที่มีพรีเมียร์ลีกเป็นลีกสูงสุด วันเปิดกล่องของขวัญ (26 ธันวาคม) และวันถัดมาจนถึงขึ้นปีใหม่ จะไม่มีการหยุดพักการแข่งขันเหมือนกับหลายลีกในทวีปยุโรป แต่กลับจะมีการแข่งขันติดต่อกันหลายนัดในช่วงนี้ จนถือได้ว่าเป็นช่วงที่หนักหน่วงในการแข่งขัน และเป็นช่วงที่ตรงกับครึ่งฤดูกาลพอดี จึงถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่อาจบ่งบอกถึงความเป็นแชมป์ในตอนจบฤดูกาลเลยก็ได้
การแข่งขันในวันเปิดกล่องของขวัญครั้งแรก มีขึ้นในระดับดิวิชันหนึ่ง ฤดูกาล (ค.ศ.)1888–89 ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกของประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ เมื่อทีมสโมสรเปรสตันนอร์ธเอนด์ เอาชนะ ดาร์บีเคาน์ตี ไปได้ด้วยสกอร์ 5–0 ในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1888
บ็อกซิงเดย์ที่โลกไม่เคยลืมเลือน
วันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2004 หรือพุทธศักราช 2547 หลังจากที่หลายพื้นที่ทั่วโลกเพิ่งเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสผ่านพ้นไปเพียงข้ามคืน ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเล และคลื่นยักษ์สึนามิในหลายประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งประเทศไทย (เหตุเกิดเช้าตรู่ของวันที่ 26 ธ.ค. หรือราว 07.58 น. ตามเวลาประเทศไทย) ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวทำให้เกิดความเสียหายบนเกาะสุมาตรา และยังรับรู้ได้ในภาคใต้ของประเทศไทย
แผ่นดินไหวครั้งนั้นเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดีย กระตุ้นให้เกิดคลื่นสึนามิสูงราว 30 เมตรเข้าท่วมทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวดังกล่าวใน 14 ประเทศมากกว่า 230,000 - 280,000 คน หรืออาจจะมากกว่านั้น นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาคือ ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย และประเทศไทย ตามลำดับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
Wikipedia (บ็อกซิงเดย์)
วิกิพีเดีย สารานุกรมออนไลน์ (คลื่นยักษ์สึนามิ)