“โอมิครอน” ยึดแล้ว ขึ้นแท่นสายพันธุ์หลักทั้งในอังกฤษ-อเมริกา

21 ธ.ค. 2564 | 06:44 น.

ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่มีการแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยพบในผู้ติดเชื้อรายใหม่ 73% ทั่วประเทศ ขณะที่ก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรก็มีรายงานการแพร่ระบาดของโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักแทน “เดลต้า” แล้วเช่นกัน

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยวานนี้ (20 ธ.ค.)ว่า แบบจำลองการประเมินล่าสุดประจำสัปดาห์ระบุว่า ขณะนี้มีจำนวน ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กระจายอยู่ทั่วประเทศ สหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน 73% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดที่พบในสหรัฐในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเพิ่มขึ้นราว 3% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าลดลงเหลือเพียง 27% เท่านั้น

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น ตอกย้ำถึงความวิตกที่ว่า ไวรัสโอมิครอนอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขของสหรัฐยิ่งตึงตัวมากขึ้น แม้จะมีหลักฐานว่าอาการเจ็บป่วยจากโอมิครอนไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลต้าก็ตาม แต่ระดับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมากก็อาจทำให้โรงพยาบาลมีจำนวนผู้ป่วยมากเกินกว่าจะรองรับได้

“โอมิครอน” ยึดแล้ว ขึ้นแท่นสายพันธุ์หลักทั้งในอังกฤษ-อเมริกา

ข้อมูลจาก CDC ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดนั้น เป็นไปตามความคาดหมายอยู่แล้ว และรูปแบบในลักษณะนี้ก็พบเห็นได้ทั่วโลก โดยในบางพื้นที่ของสหรัฐนั้นพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ในจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ “เกือบทั้งหมด” โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 92% ในรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ ขณะที่มีสัดส่วนถึง 96% ในรัฐวอชิงตัน

นอกจากนี้ CDC ยังระบุด้วยว่า มาตรการป้องกันอื่น ๆ เช่น การใส่หน้ากากภายในอาคาร และการตรวจหาเชื้อที่บ้าน ยังคงช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวได้

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุวันนี้ (21 ธ.ค.) ว่า สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมจำนวน 51,769,969 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 827,343 ราย จึงยังคงครองอันดับ 1 ของโลกทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดดังกล่าว

 

เมื่อแยกแยะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายรัฐ จะพบว่า

  • รัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 ล้านราย ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย
  • รัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 4 ล้านราย ได้แก่ เท็กซัส
  • รัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 3 ล้านราย ได้แก่ ฟลอริดา นิวยอร์ก
  • รัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ล้านราย ได้แก่ อิลลินอยส์ เพนซิลเวเนีย โอไฮโอ จอร์เจีย มิชิแกน นอร์ทแคโรไลนา เทนเนสซี นิวเจอร์ซีย์ แอริโซนา อินเดียนา วิสคอนซิน เวอร์จิเนีย แมสซาชูเซทส์

นอกจากนี้ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงสุดในสหรัฐ ด้วยสถิติผู้เสียชีวิต 75,970 ราย

ทางด้าน สหราชอาณาจักร กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ธ.ค.) ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ขยับขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลักที่ตรวจพบในผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในมหานครนครลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ และในสกอตแลนด์ แทนสายพันธุ์เดลต้าเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 17 ธ.ค. พบว่า ผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในอังกฤษมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 24,968 ราย โดยในวันดังกล่าวยอดผู้ติดเชื้อใหม่มีจำนวน 93,045 ราย ข้อน่าวิตกของอังกฤษคือมีการติดเชื้อไวรัสโอมิครอนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ยอดการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าก็ยังพุ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้อังกฤษตกอยู่ภาวะถูกโจมตีแบบกระหนาบโดยไวรัสโควิดทั้ง 2 สายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ไว

“โอมิครอน” ยึดแล้ว ขึ้นแท่นสายพันธุ์หลักทั้งในอังกฤษ-อเมริกา

สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องเพิ่มมาตรการคุมเข้มต่าง ๆเพื่อควบคุมโรค รวมถึงการขอให้ประชาชนทำงานจากที่บ้าน และขอความร่วมมือให้งดกิจกรรมการเฉลิมฉลองรวมถึงการเดินทางในช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง แต่บางประเทศยังมองด้วยว่าอังกฤษเป็น “พื้นที่เสี่ยง” ที่ต้องระมัดระวังในระดับสูงสุด ยกตัวอย่างเช่น ฮ่องกง ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน รัฐบาลฮ่องกงประกาศวานนี้ (20 ธ.ค.) ว่า ผู้มีถิ่นพำนักในฮ่องกงที่เดินทางกลับมาจากอังกฤษจะต้องเข้ากักตัวที่ศูนย์กักตัวเพนนีส์เบย์ แต่ได้ลดระยะเวลาในการกักตัวลง

 

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ฮ่องกงได้จัดให้อังกฤษอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องใช้มาตรการ “เข้มงวดสูงสุด” ซึ่งกำหนดให้ผู้เดินทางต้องเข้ากักตัวที่ศูนย์กักตัวเพนนีส์เบย์ โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันนี้ (21 ธ.ค.) เป็นต้นไป

 

ภายใต้มาตรการใหม่ หากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในกลุ่มเสี่ยงสูงแสดงหลักฐานว่าได้จองที่พักเพื่อกักตัวมาแล้วล่วงหน้า ก็สามารถกักตัวเป็นเวลา 4 วันที่ศูนย์กักตัวเพนนีส์เบย์ จากเดิม 7 วัน ก่อนจะเข้ากักตัวในโรงแรมต่อจนครบระยะรวม 21 วัน

 

ความเคลื่อนไหวของฮ่องกงมีขึ้น ขณะที่รัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณาการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเพื่อควบคุมยอดผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น โดยคณะที่ปรึกษาของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้แนะนำให้รัฐบาลอังกฤษประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ยอดของผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต้องพุ่งแตะระดับหลายพันคนต่อวัน