“อินดิเท็กซ์” ยักษ์ใหญ่แฟชั่นโลกพร้อมทุ่ม 9.4 หมื่นล้าน เดินหน้าฝ่าโควิด

11 มิ.ย. 2563 | 09:12 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวลงไป แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ในหลายประเทศจะดีขึ้น และรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้ธุรกิจหลากหลายประเภทที่เคยต้องปิดตัวชั่วคราวในช่วงคุมเข้มป้องกันโรค สามารถกลับมาเปิดรับลูกค้าอีกครั้ง แต่ภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบใหม่ที่รู้จักกันในนิยามของ New Normal นั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์การเข้าหาลูกค้าและการนำเสนอบริการ เพราะโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันนี้ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป  

 

อินดิเท็กซ์ (Inditex) ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นจากประเทศสเปนซึ่งมีรายได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นดังอย่าง ซาร่า (Zara) มาสสิโม ดุตติ (Massimo Dutti) และพุลแอนด์แบร์ (Pull&bear) ประกาศเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) ว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และจำเป็นต้องปิดร้านค้ามากกว่าพันแห่งทั่วโลกในปีนี้ แต่บริษัทก็มีแผนเดินหน้า ธุรกิจหลังยุคโควิด-19 โดยจะทุ่มทุน 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 94,170 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อสร้างการเติบโต

“อินดิเท็กซ์” ยักษ์ใหญ่แฟชั่นโลกพร้อมทุ่ม 9.4 หมื่นล้าน เดินหน้าฝ่าโควิด

เม็ดเงินลงทุนของอินดิเท็กซ์จะเน้นปรับปรุงการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ซึ่งกลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงลูกค้าในช่วงภาวะวิกฤติที่หลายคนจำเป็นต้องอยู่กับบ้านและหันมาทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทจะลงทุนกับการปรับปรุงร้านค้าที่อยู่ในทำเลพรีเมี่ยมของตลาดสำคัญ ๆ เช่น ช็อปที่บาร์เซโลนา และปักกิ่ง เป็นต้น

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ผู้บริหารของอินดิเท็กซ์ยอมรับถึงผลกระทบทางธุรกิจที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ร้านสาขาจำนวนมากของบริษัทต้องปิดตัวชั่วคราวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงและหลายพื้นที่เริ่มปลดล็อกมาตรการคุมเข้มต่าง ๆ อินดิเท็กซ์ จึงพร้อมเดินหน้าลงทุนเพื่อพัฒนาระบบการค้าออนไลน์และออฟไลน์ ที่จะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างครบวงจร

 

ทั้งนี้ ในวงเงินลงทุน 3,000 ล้านดอลลาร์ในระยะ 3 ปีข้างหน้านั้น บริษัทจะใช้ 1,100 ล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนาบริการในระบบดิจิทัล  

 

ส่วนร้านสาขา จะปิดตัวลงอย่างถาวรราว 1,200 สาขาในปีนี้ ที่เหลือ 450 สาขาจะเน้นเป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่และอยู่ในทำเลชั้นเลิศระดับพรีเมี่ยม เช่นที่บาร์เซโลน่า เอดินเบิร์ก ริยาด ปักกิ่ง และโบโกตา  ภายในร้านสาขาจะเน้นบริการคุณภาพสูง มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบาย เชื่อมโยงกับบริการร้านค้าออนไลน์ที่บริษัทมีอยู่  ซึ่งการปรับปรุงนี้จะทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่  

“อินดิเท็กซ์” ยักษ์ใหญ่แฟชั่นโลกพร้อมทุ่ม 9.4 หมื่นล้าน เดินหน้าฝ่าโควิด

“โคโรนาไวรัสเป็นตัวเร่งที่ทำให้กระแสการช็อปปิ้งออนไลน์เติบโตเร็วขึ้นมาก ซึ่งจะว่าไปกระแสดังกล่าวนี้ได้สร้างผลกระทบและทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกจำเป็นต้องปรับตัวตั้งแต่ก่อนที่โควิด-19 จะอุบัติขึ้นแล้ว” ผู้บริหารของอินดิเท็กซ์กล่าวว่า ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ยอดขายออนไลน์ของบริษัท พุ่งสูงขึ้นในอัตรา 95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 50% เมื่อดูเป็นรายไตรมาส (ยอดขายทางออนไลน์พุ่งขึ้น 50% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้)  

 

การปรับตัวเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจค้าปลีก ทั้งนี้ ผลวิจัยของ บริษัท คอร์ไซท์ รีเสิร์ช (Coresight Research) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ชี้ว่า ร้านค้าซึ่งเป็นร้านแบบปกติที่เรียกว่า “ร้านค้าออฟไลน์” นั้น คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องปิดตัวอย่างถาวรทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 25,000 ร้านภายในปีนี้ ดังนั้น แผนการของอินดิเท็กซ์จึงสอดคล้องกันกับแนวโน้มดังกล่าว คือบริษัทจะลดจำนวนร้านสาขาลงมา เหลือแต่สาขาขนาดใหญ่ในโลเคชันที่เหมาะสมเท่านั้น จากนั้นก็เน้นบริการออนไลน์มากขึ้น

“อินดิเท็กซ์” ยักษ์ใหญ่แฟชั่นโลกพร้อมทุ่ม 9.4 หมื่นล้าน เดินหน้าฝ่าโควิด

อินดิเท็กซ์คาดหมายว่า ยอดขายสินค้าทางออนไลน์ของบริษัท จะเพิ่มขึ้นและมีสัดส่วนมากกว่า 25% ของยอดขายทั้งหมดภายในปี 2022 (พ.ศ. 2565) หรืออีกเพียง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนเพียง 14% ในปี 2562  ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะทำให้บริษัทสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในตลาดได้อย่างรวดเร็วฉับไวมากขึ้น และสามารถลดภาระในการสต็อกสินค้า  การมีสินค้าใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยม เข้าร้านได้อย่างรวดเร็วกว่าร้านคู่แข่ง หมายถึงความได้เปรียบในธุรกิจร้านเสื้อผ้าแฟชั่น และนั่นหมายถึงร้านซาร่า ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ทำรายได้ให้กับอินดิเท็กซ์มากที่สุด จะสามารถดึงดูดหรือช่วงชิงลูกค้าจากร้านคู่แข่งได้มากขึ้นด้วย

 

ในช่วงไตรมาสแรกที่สิ้นสุดลงในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อินดิเท็กซ์ขาดทุนที่ระดับ 464.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการถดถอยจากผลประกอบการในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (2562) ที่บริษัทยังสามารถทำกำไรที่ระดับ 834.2 ล้านดอลลาร์ ส่วนยอดขายนั้นลดลง 44% สู่ระดับ 3,800 ล้านดอลลาร์ แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์จะผ่านพ้นไปในตลาดหลัก ๆ ของอินดิเท็กซ์ และร้านสาขาเปิดบริการตามปกติแล้ว แต่ยอดขายระหว่างวันที่ 2-8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ยังลดลง 34%

 

กระนั้นก็ตาม เมื่อมองในแง่บวกก็ถือว่า อินดิเท็กซ์ยังโชคดีกว่าคู่แข่งอีกหลายราย เพราะผู้ค้าปลีกสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ต่างปิดตัวและบางรายก็จำเป็นต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้กฎหมายล้มละลายของสหรัฐไปแล้ว เช่นกรณีของเจซี เพนนีย์ (JCPenney) นีแมน มาร์คัส (Neiman Marcus) และ เจ.ครูว์ (J.Crew) หรือถ้ายังไม่ถึงขั้นล้มละลาย แต่ก็มีภาระหนี้สินที่ทำให้ขยับตัวสร้างความเติบโตได้ลำบาก เช่นกรณีของแก็ป อิงค์ (Gap Inc.) เจ้าของแบรนด์ GPS ที่มีหนี้ท่วมทำลายสถิติที่ 932 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา