“ชางงี” ยืนหนึ่ง "สนามบินดีที่สุดในโลก" 8 ปีซ้อน

12 พ.ค. 2563 | 01:46 น.

“สนามบินชางงี” ของสิงคโปร์ ยังครองแชมป์ “สนามบินที่ดีที่สุดของโลก” เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน โดยการจัดอันดับของสกายแทร็กซ์ ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิของไทย หล่นจาก 46 มาอยู่อันดับที่ 48

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า “สกายแทร็กซ์” บริษัทที่ปรึกษาด้านการบินของสหราชอาณาจักร ซึ่งจัดอันดับสนามบินและสายการบินต่าง ๆ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับ “สนามบินที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2020” เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า สนามบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกติดอันดับท็อป 10 ถึง 7 แห่ง ซึ่งรวมถึงท่าอากาศยานนานาชาติชางงี ของสิงคโปร์ ที่ครองแชมป์อย่างเหนียวแน่นเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันแล้ว

สนามบินชางงี สิงคโปร์

ส่วน อันดับที่ 2 ยังคงเป็นของท่าอากาศยานนานาชาติ ฮาเนดะ ของประเทศญี่ปุ่น อันดับ 3 คือท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งขยับขึ้นจากปีที่แล้ว 1 อันดับ ตามด้วยท่าอากาศยานนานาชาติ อินชอน ของเกาหลีใต้ ที่ตกจากอันดับ 3 มาอยู่อันดับ 4 และท่าอากาศยาน มิวนิค ของเยอรมนี รั้งอันดับที่ 5 ดีขึ้นจากปีก่อน 2 อันดับ และยังคงครองตำแหน่งสนามบินที่ดีที่สุดของยุโรป

ท่าอากาศยานนานาชาติ ฮาเนดะ ของญี่ปุ่น

ขณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติ สุวรรณภูมิ ของไทย อันดับตกลงจากปีที่แล้ว (2562) 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 48 แต่ก็รั้งอันดับ 3 ของสนามบินในภูมิภาคอาเซียน คือ รองจากสนามบินชางงี ของสิงคโปร์ และท่าอากาศยานนานาชาติ จาการ์ตา ของอินโดนีเซีย ซึ่งติดอันดับ 35 ของโลก ดีขึ้นจากปีก่อนถึง 5 อันดับ

ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

ทั้งนี้ การจัดอันดับสนามบินของ สกายแทร็กซ์ ใช้การสำรวจความคิดเห็นและผลโหวตจากผู้ใช้บริการสายการบินนานาชาติจำนวนหลายล้านคนที่ใช้บริการสนามบินต่าง ๆ ในปีช่วง 2562 ถึงต้นปี 2563 โดยเดิมที่มีกำหนดประกาศผลในวันที่ 1 เม.ย. ที่งาน ‘Passenger Terminal Expo’ ในกรุงปารีส แต่งานถูกยกเลิกเนื่องจากการระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ทำให้สกายแทร็กซ์ ตัดสินใจเลื่อนวันประกาศผลเป็นวันที่ 10 พ.ค. โดยจัดพิธีมอบรางวัลผ่านโลกออนไลน์และถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ยูทูบ

ท่าอากาศยานนานาชาติ อินชอน ของเกาหลีใต้

สายการบินที่ดีที่สุดของโลก 10 อันดับแรกปี 2020 ( จัดอันดับโดยสกายแทร็กซ์)

1. ท่าอากาศยานนานาชาติ ชางงี ของสิงคโปร์

2. ท่าอากาศยาน ฮาเนดะ ของญี่ปุ่น

3. ท่าอากาศยานนานาชาติ ฮาหมัด ของกาตาร์

4. ท่าอากาศยานนานาชาติ อินชอน ของเกาหลีใต้

5. ท่าอากาศยาน มิวนิค ของเยอรมนี

6. ท่าอากาศยานนานาชาติ ฮ่องกง

7. ท่าอากาศยานนานาชาติ นาริตะ ของญี่ปุ่น

8. ท่าอากาศยานนานาชาติ ชูบุ เซ็นแทรร์ ของญี่ปุ่น

9. ท่าอากาศยาน สคิปโฮล อัมสเตอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์

10. ท่าอากาศยานนานาชาติ คันไซ ของญี่ปุ่น

ท่าอากาศยานมิวนิค ของเยอรมนี