เตรียมความพร้อม Startup ไทย สู่ Startup ระดับโลก (1)

23 ต.ค. 2561 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

หากกล่าวถึงคำว่า Startup หลายๆ ท่านอาจจะนึกถึงภาพองค์กรธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินการ แต่ใช้เทคโนโลยีอันลํ้าสมัยมารองรับโมเดลทางธุรกิจ จนก่อให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และสร้างผลกำไรมหาศาล อย่างไรก็ตาม Startup ยังมีอีกบทบาทที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันหรือแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การศึกษา ความยากจน และปัญหา มลพิษต่างๆ Startup จึงเป็นธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนให้สังคมพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

กระทรวงการต่างประเทศ และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ NIA เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ จึงได้จัดโครงการ “เสริมสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรม” โดยพาตัวแทน Startup ไทยเข้าร่วมงาน Oslo Innovation Week 2018 ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 24-28 กันยายน 2561 เพื่อร่วมสำรวจและหาความร่วมมือกับ Startup ชั้นนำระดับโลกในหลากหลายสาขา รวมทั้งเพื่อเตรียมให้ Startup ไทยพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ตัวแทน Startup ไทยที่ได้ร่วมเดินทางไปกับเราในครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 บริษัท คือ บริษัท Jasberry บริษัท Ricult บริษัท Socialgiver และบริษัท EdWings Education โดยทั้ง 4 บริษัทนี้ มาจากภาคอุตสาหกรรมเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการศึกษา ซึ่งแต่ละบริษัทพร้อมแล้วที่จะมาเล่าประสบการณ์สุดพิเศษและความรู้ที่ได้รับมาอย่างเต็มที่สำหรับ Startup ไทยทุกคน

Jasberry Rice

Every rice grain matters. Our small-scale farmers grow their way out of poverty.   
แจ๊สเบอร์รี่ (Jasberry) เป็น กิจการเพื่อสังคมด้านเกษตรกรรมที่มุ่งลดความยากจนในหมู่เกษตรกร โดยบริษัทได้ทำงานวิจัยด้านเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อนำไปให้เกษตรกรในโครงการได้ปลูก รวมทั้งให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในเรื่องวิธีการปลูกที่สามารถเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนต่อไร่ หลังจากนั้นจึงนำผลผลิตที่ได้ไปพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม และทำการตลาด Modern Trade ในระดับโลก

[caption id="attachment_335027" align="aligncenter" width="479"] คลินท์ คู คลินท์ คู[/caption]

คุณคลินท์ คู (Clint Coo) ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทสยามออแกนิคแจ๊สเบอร์รี่ จำกัด กล่าวว่า จากการเข้าร่วมสำรวจภาคการเกษตรของนอร์เวย์และเข้าร่วมกิจกรรม Oslo Innovation Week ทำให้ได้เห็นว่าภาคการ เกษตรของไทยและนอร์เวย์มีความเหมือนและความแตกต่างกันมากในหลายจุด โดยในนอร์เวย์จะเน้นการเกษตรในด้านการประมง ซึ่งความแตกต่าง ที่สำคัญคือ การประมงที่นอร์เวย์จะใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคนในอัตราส่วนที่สูง เนื่องจากค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับสูงมาก ขณะที่ไทยจะเน้นใช้แรงงานมากกว่าการใช้เครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ชาติต่างให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากยิ่งขึ้น

สำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตรไทย คุณคลินท์กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายรูปแบบ โดยไม่จำกัดอยู่แค่อุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟน หรือโดรน เท่านั้น แต่อาจนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงสายพันธุ์พืชให้มีคุณลักษณะที่ดีมากยิ่งขึ้น ได้ผลผลิตและทนต่อโรคมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงระบบการจัดการ นํ้าหรือดินให้มีคุณภาพ ดังนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจึงมีความแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ สิ่งที่ได้เห็นจากกิจกรรม Oslo Innovation Week ในประเด็นด้าน Startup คือ การได้เห็นระบบนิเวศ (Ecosystem) ของนอร์เวย์ที่พร้อมรองรับการเกิดขึ้นของ Startup ในทุกรูปแบบ เช่น การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐต่างๆ และการมี Co-working space ที่บริหารจัดการระบบได้เป็นอย่างดี โดยมีการช่วยเหลือและแบ่งปันประสบ การณ์การแก้ไขปัญหากันภายใน จึงทำให้ Startup ของนอร์เวย์เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
Ricult

Those who feed us, need us.

รีคัลท์ (Ricult) เป็นกิจการเพื่อสังคมทางด้านเกษตรกรรมอีกหนึ่งบริษัทที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดย Ricult เป็นบริษัทที่เก็บข้อมูลสภาพอากาศจากภาพ ถ่ายดาวเทียมเพื่อวางแผนการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพสูง

คุณนิศากร วัลยะเสวี ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยี ด้านการเกษตรของนอร์เวย์พัฒนาไปได้ไกลมาก โดยเกษตรกรท้องถิ่นสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี ยกตัว อย่างจากการเพาะปลูกซึ่งมีการปลูกในโรงเรือนขนาดใหญ่ และการ ประมงซึ่งมีการทำฟาร์มปลาที่ควบ คุมปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมได้ง่าย

[caption id="attachment_335028" align="aligncenter" width="503"] นิศากร วัลยะเสวี (คนที่ 2 จากขวา) และทีมงาน นิศากร วัลยะเสวี (คนที่ 2 จากขวา) และทีมงาน[/caption]

ส่วนการทำงานของ Startup ของนอร์เวย์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนนั่นคือ จะเน้นสร้าง Startup ที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ยกตัวอย่างเช่น Startup ที่ทำงานด้านลดถุงขยะในทะเล และ Startup ที่ทำเรื่องการนำของเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งถือเป็นการทำงานตาม กรอบแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Startup ในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะยังไม่ได้ทำงานในเชิงสิ่ง แวดล้อมมากนัก แต่ก็ถือว่าได้ทำงานในด้านการแก้ปัญหาความ ยากจนอย่างแข็งขัน เนื่องจากเป็น ความจำเป็นที่เร่งด่วนมากกว่า

ทั้งนี้ คุณนิศากร ยังได้กล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า Startup ไทยที่ต้องการเข้าร่วมงาน Oslo Innovation Week ในปีถัดไป ควรเตรียมสร้างโมเดลทางธุรกิจของตนเองให้ชัดเจนเพื่อการหาหุ้นส่วนทางธุรกิจจากงาน Oslo Innovation Week ที่ตรงใจได้อย่างรวดเร็ว

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่น่าสนใจจาก Startup ทางด้านการเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ แต่เนื้อหาที่น่าตื่นเต้นยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในบทความฉบับต่อไป ท่านจะได้พบกับ Startup ทางด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา ซึ่งต่างก็มีมุมมองที่แปลกใหม่จากงาน Oslo Innovation Week มา ร่วมแชร์ กับ Startup ไทยทุกคน

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

คอลัมน์ |หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,411 ระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม 2561

595959859