สงครามการค้าควันระอุ จีน-อียู พร้อมโต้มะกันขึ้นภาษีเหล็ก

10 มี.ค. 2561 | 03:22 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เมื่อเดือนเมษายน 2560 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งให้คณะทำงานสอบสวนการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 232 เพื่อตรวจสอบว่าการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศนั้นมีผลต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ ในครั้งนั้นหลายฝ่ายเชื่อว่าผู้นำสหรัฐฯหยิบยกเรื่องนี้มาเพื่อจำกัดการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายทั้งในและนอกประเทศ แต่แล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 มีนาคม) ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ประกาศแล้วว่าสหรัฐฯกำลังจะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าอัตรา 25% และอะลูมิเนียม 10% โดยไม่ได้ให้รายละเอียด มีแต่การคาดคะเนว่า เขาน่าจะลงนามในคำสั่งและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในสัปดาห์นี้

เรื่องนี้สร้างแรงสะเทือนทั่ววงการส่งออกเหล็กกล้าทั่วโลก หลายประเทศคู่ค้าส่งสัญญาณว่าถ้าสหรัฐฯใช้มาตรการลักษณะกีดกันทางการค้าเช่นนี้ ก็พร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้ บางส่วนพร้อมยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เนื่องจากหากสหรัฐฯขึ้นภาษีตามที่ขู่ก็จะเป็นการกระทำตามอำเภอใจแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ เป็นไปตามกฎกติกาของดับบลิวทีโอ

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ผู้ผลิตเหล็กกล้าของเอเชียน่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯมากที่สุดเพราะเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ที่สุด เห็นได้ชัดว่าเมื่อมีข่าวนี้ออกมา หุ้นของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกเหล็กกล้าของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ก็มีราคาร่วงกราวเมื่อเช้าวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียมของจีน (จีนเป็นผู้ส่งออกอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดในโลก) ที่ดำดิ่งลงเช่นกัน

TP10-3346-A มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯส่วนใหญ่มุ่งเป้าหวังผลไปที่จีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯสูงมาก แม้ว่าในกรณีการขึ้นภาษีเหล็กกล้า จีนจะไม่ใช่ผู้ส่งออกเหล็กกล้ารายใหญ่ไปยังสหรัฐฯ(จีนมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 2%) แต่พลันที่มีข่าวออกมา หุ้นของบริษัทเหล็กกล้าหลายแห่งของจีนก็ซวนเซไปด้วยในทันที เช่นหุ้นของบริษัท เป่าฉาน ไอรอน แอนด์ สตีลฯ ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของจีน ราคาหุ้นร่วงลงมากกว่า 4% นายหลี่ ซินจวง รองประธาน สมาคมเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่า นี่คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ “โง่เขลา” และมีแต่จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯยิ่งอ่อนแอ ไม่ใช่แข็งแรงขึ้น เพราะการปกป้องที่มากเกินจะทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศไม่มีการปรับตัว ล้าสมัยลงเรื่อยๆ และเพิ่มต้นทุนให้กับผู้นำเข้า ทำให้ไม่สามารถทำราคาสินค้าแข่งขันในตลาดโลกได้

ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ส่งออกเหล็กกล้าไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของมูลค่าตลาดเหล็กกล้านำเข้าทั้งหมด ประเทศที่ได้ส่วนแบ่งตลาดรายใหญ่สุดคือ แคนาดา ตามมาด้วยบราซิล เกาหลีใต้ เม็กซิโก และรัสเซีย

ในกรณีของการขึ้นภาษีนำเข้าอะลูมิเนียม จีนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 4 ไปยังตลาดสหรัฐฯ ราคาหุ้นของบริษัท อะลูมิเนียม คอร์ป ออฟ ไชน่าฯ ที่ซื้อขายในตลาดฮ่องกงดิ่งลง 1.7% ในช่วงเช้าวันศุกร์ (2 มี.ค.) สถิติชี้ว่า ในปี 2560 สหรัฐฯนำเข้าอะลูมิเนียมส่งออกจากจีนในสัดส่วนถึง 14% ของตัวเลขส่งออกทั้งหมด ส่วนผลกระทบที่คาดว่าจะมีต่อตลาดเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมโดยรวมนั้น เชื่อว่าข่าวนี้จะทำให้การสั่งซื้อเหล็กกล้าทั่วโลกเกิดความปั่นป่วน และคู่ค้าของสหรัฐฯรวมทั้งจีน คงมีมาตรการตอบโต้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทำให้ผู้ผลิตเหล็กกล้าบางรายที่มีโรงงานในสหรัฐฯ เช่น บลูสโคป สตีล จากออสเตรเลีย มีราคาหุ้นปรับสูงขึ้น 0.9%

นายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป(อียู) ตอบกลับท่าทีของสหรัฐฯด้วยมาตรการตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยเขาระบุว่า ถ้าสหรัฐฯขึ้นภาษีตามอำเภอใจ อียูก็จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันเช่นกัน พร้อมยกตัวอย่าง มอเตอร์ ไซค์ฮาร์เลย์เดวิดสัน และวิสกี้เคนตักกีเบอร์เบิน ซึ่งสินค้าเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มาจากแหล่งผลิตในรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์รวมทั้งคนสำคัญร่วมรัฐบาล “เราจะไม่นั่งเฉยปล่อยให้อุตสาหกรรมของเราต้องได้รับผลกระทบจากมาตรการที่ไม่เป็นธรรมและทำให้คนงานของยุโรปนับพันๆคนต้องเสี่ยงกับการตกงาน”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 ++อันตรายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเอง
กลางปีที่ผ่านมา กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของสหรัฐฯ รวมถึงอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และอดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดี อาทิ นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ (Council of Economic Advisers หรือ CEA) สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นายมาร์ติน ฟิลด์สเตน อดีตประธาน CEA สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และนายเจสัน เฟอร์แมน ที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ร่วมกันลงนามในจดหมาย ส่งถึงทำเนียบขาว เพื่อคัดค้านและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้า “Trade Expansion Act of 1962” เพื่อเริ่มต้นกระบวนการจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ให้เหตุผลว่า สหรัฐฯมีภาษีตอบโต้และต่อต้านการทุ่มตลาดอยู่แล้วกว่า 150 รายการที่นำมาใช้กับการนำเข้าเหล็ก “การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและประเทศพันธมิตรรายใหญ่ที่เป็นแหล่งนำเข้าเหล็กของประเทศ รัฐบาลแคนาดา อังกฤษ สหภาพยุโรป เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ต่างก็ออกมาแสดงความกังวลในเรื่องนี้” จดหมายดังกล่าวระบุ

นักเศรษฐศาสตร์ยังเตือนด้วยว่า การขึ้นภาษีจะส่งผลให้ต้นทุนของกลุ่มผู้ผลิตของสหรัฐฯเองปรับตัวสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะบีบให้ผู้ผลิตเหล่านี้ลดการจ้างงาน และเพิ่มราคาสินค้าที่ขายให้กับผู้บริโภค นั่นหมายถึงการสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและทางการทูต จึงเห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ควรจะยุติการดึงดันเดินหน้าในเรื่องนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว