“พิชิต ชื่นบาน” ทนายความถุงขนม ว่าที่รมต. คุณสมบัติขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ?

30 ส.ค. 2566 | 06:07 น.

ตรวจสอบโผครม. ตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” ทนายความถุงขนม เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย จริยธรรมหรือไม่?

 

กรณี นายพิชิต ชื่นบาน หรือ "ทนายความถุงขนม" ติดโผ ครม. เศรษฐา 1 ถูกเสนอชื่อให้เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึง คุณสมบัติและความเหมาะสม ในการเข้ามาตำรงตำแหน่ง

โดยเฉพาะในกรณีที่นายพิชิตในฐานะหัวหน้าทีมทนายความของทักษิณ ชินวัตร หิ้วถุงขนม ข้างในใส่เงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯของศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อปี 2551 จนศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกนายพิชิต ชื่นบาน กับพวก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล

มีคำถามตามมาว่า การที่ศาลฎีกาฯมีคำสั่งคุกนั้น ทำให้นายพิชิต ชื่นบาน ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 หรือไม่

 รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 กำหนดคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีไว้ดังนี้

  1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
  3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
  4.  มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  5. ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  6. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
  7. ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
  8. ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

มาตรา 98 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

  1. ติดยาเสพติดให้โทษ
  2. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  3. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
  4. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4)
  5. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  6. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  7. เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  8. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  9. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  10. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  11. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  12. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
  13. เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  14. เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
  15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
  16. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
  17. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  18. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม

ประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจ

คุณสมบัติรัฐมนตรีตาม มาตรา 160 (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา คือ มาตรา 98 (7) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

กรณีศาลฎีกาฯ มีคำสั่งจำคุก ‘พิชิต ชื่นบาน 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล หากพิจารณาจากมาตรา 98 (7) จะพบว่า นายพิชิต ถูกคำสั่งจำคุก 6 เดือนเมื่อปี 2551 ปัจจุบันผ่านมากว่า 15 ปีแล้ว ดังนั้นจึงพ้นโทษเกิน 10 ปี นั่นจึงทำให้เขาไม่ติดคุณสมบัติข้อนี้

คุณสมบัติรัฐมนตรีตามมาตรา 160 (7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

หากพลิกคำสั่งของศาลฎีกาฯในคดีถุงขนม ศาลพิพากษาการกระทำ พิชิต ชื่นบาน กับพวก ว่า

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่า เงินที่ผู้ถุกกล่าวหาที่ 3 มอบให้ม.ล.ฐิติพงศ์ เพื่อนำไปแบ่งกันกับเจ้าหน้าที่ในแผนกมีจำนวนมากถึง 2,000,000 บาท แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามมีเจตนาที่จูงใจให้ม.ล.ฐิติพงศ์ และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม

จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตาามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1),33 ประกอบประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฏหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ

จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาคนละ 6 เดือน ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน นั้น ให้ผู้กล่าวหาไปดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ประเด็นต่อมาที่ต้องพิจารณาคือ คำสั่งจำคุก พิชิต ชื่นบาน กับพวก 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) หรือไม่

ประเด็นนี้ พิชิต ชื่นบาน ยืนยันว่า ตนไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม ไม่เคยต้องคำพิพากษาในคดีความอาญา ส่วนความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่หรือศาล คดีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในปี 2552 ว่า ร่วมกันใช้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานฯ แต่พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) สน.ชนะสงคราม มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด

นายพิชิต อ้างว่า ตนถูกสั่งจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่ใช่ความผิดทางอาญา นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังเปิดโอกาสให้บุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานประมาท หรือความผิดลหุโทษ สามารถเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีได้ โดยไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาในการพ้นโทษ

ขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายพิชิต ชื่นบาน มีคุณสมบัติต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(7) หรือไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ และเชื่อว่าหากมีการแต่งตั้งนายพิชิตเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็จะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอน

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 160

เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 160

เมื่อพลิกดูความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ จัดทำคำอธิบายประกอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่า ได้กำหนดให้มีมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 มาตรา 35 ที่กำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่จะต้องครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ

โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตและการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ จึงได้มีการกำหนดให้รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นเท่ากับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้น เช่น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่าการกำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญนอกจากในเรื่องกฎหมายแล้วยังมีเรื่องของจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เมื่อดูจากคำสั่งศาลฎีกาตอนหนึ่งที่ระบุว่า “ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฏหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ”

คำถามที่ตามมาคือ พฤติกรรมของนายพิชิต ชื่นบาน กับพวก ในคดีถุงขนม เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายจริยธรรมหรือไม่?