"พิชิต ชื่นบาน" สายล่อฟ้า ครม.เศรษฐา 1 คุณสมบัติส่อขัดรัฐธรรมนูญ

29 ส.ค. 2566 | 06:00 น.

กางรัฐธรรมนูญ 2560 "คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม" ของคณะรัฐมนตรี กับ ปมร้อนโผ "ครม.เศรษฐา 1" หลังมีชื่อ ทนายถุงขนม "พิชิต ชื่นบาน" นั่งรมต.สำนักนายกฯ ส่อขัดมาตรา 160 วงเล็บ 7 "ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดียังไม่ถึงที่สุด หรือรอการลงโทษ ยกเว้นความผิดลหุโทษ"

เป็นที่ฮือฮา กับ "โผครม.เศรษฐา1" เมื่อมีกระแสข่าวว่า โผครม.ล่าสุด มีชื่อของ "ทนายถุงขนม-นายพิชิต ชื่นบาน นั่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

"นายกฯเศรษฐา ทวีสิน" ยอมรับและเปิดผยถึงสาเหตุที่มีชื่อนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสียบแทนชื่อ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ก่อนหน้านี้คาดการกันว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย 

"ผมเข้าใจว่านายชูศักดิ์จะได้รับมอบหมายให้ไปทำภารกิจอื่น ขณะที่นายพิชิต ได้อยู่กับพรรคเพื่อไทยมานานแล้ว ซึ่งตอนนี้การจัด ครม. เสร็จเกือบ 100% อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ต้องการที่จะเปิดเผยรายชื่อ เพราะจะต้องดูเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งว่าใช้เวลา 2 วันในการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติ แต่ไม่ขอบอกว่าจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้เมื่อไหร่ เนื่องจากไม่อยากก้าวล่วง แต่ก็หวังว่าจะสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว"

สำหรับประวัติ นายพิชิต เป็นหัวหน้าทีมทนายความครอบครัวชินวัตร รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อสู้คดีที่ดินรัชดา

ต่อมาศาลมีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล  เพราะมีข่าวหิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนเกิดฉายา "ทนายถุงขนม"

จากนั้นสภาทนายความ มีมติเสียงข้างมาก 9 ต่อ 3 เสียง ให้ลงโทษหนักสุด ลบชื่อ “พิชิต” ออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ จากกรณีดังกล่าวทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความได้เป็นเวลา 5 ปี

ซึ่งในคดีที่ดินรัชดา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 มีคำตัดสินให้จำคุกนายทักษิณเป็นเวลา 2 ปี ในคดีซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ

ประเด็นร้อนจึงเกิดขึ้น เพราะนายพิชิต เคยถูกคำสั่งศาลให้จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา" กำลังเป็นสายล่อฟ้าเขย่ารัฐบาลเศรษฐาตั้งแต่ต้น จนเกิดคำถามตามมาว่า เรื่องนี้จะเป็น "จุดตาย" ที่สร้างปัญหาใหญ่ให้รัฐบาลเศรษฐาหรือไม่

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบจาก มาตรา 160 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ "นายกรัฐมนตรี" และ "คณะรัฐมนตรี" (ครม.) เอาไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

1.มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

3.สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

4.มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

5.ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

6.ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

โดยในส่วนนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคสอง ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) มาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก

7.ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

8.ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันแต่งตั้ง

เมื่อลงรายละเอียดไปดู มาตรา 98 ระบุไว้ว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)

-ติดยาเสพติดให้โทษ

-เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

-เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

-เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4)

-อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

-ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

-เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

-เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

-เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

-เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือ

ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า

กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

-เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

-เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง

-เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

-เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี

-เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

-เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

-อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

-เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม

 

"วิชา มหาคุณ" บอกถ้าตั้งจริงอาจโดนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หากตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 วงเล็บ 6 ระบุว่า "ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98" คือ "เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ" 

ซึ่งกรณีพ้นโทษจำคุกมาแล้ว 10 ปี ถ้าคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีผ่านในส่วนของมาตรา 98 แต่ก็ต้องมาตีความมาตรา 160 วงเล็บ 7 หรือไม่ที่ระบุว่า 

"ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท"

"เพราะถูกคำสั่งจำคุกโดยไม่มีคำพิพากษา ก็อาจจะมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมเพื่อตีความอีกว่า จริงๆแล้วศาลมีคำสั่งให้จำคุกคือคำพิพากษาใช่หรือไม่ แต่ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าจะแต่งตั้งให้มีปัญหาทำไม แนะนำว่าให้เป็นตำแหน่งอื่นๆที่ไม่ใช่รัฐมนตรีจะดีกว่า"