"พลังสังคมใหม่" ชง "รื้อเอ็มโอยู 8 พรรคร่วม" หลังเพื่อไทยนำตั้งรัฐบาล

26 ก.ค. 2566 | 02:30 น.

เกาะติดจัดตั้งรัฐบาล ล่าสุด "เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่" เสนอรื้อ MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ชี้ 23 ข้อ ของเดิมเป็นของก้าวไกล ระบุ ต้องให้สิทธิ์เพื่อไทยแก้ไขหลังได้รับไม้ต่อ

เกาะติดความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล และโหวตเลือกนายกฯรอบที่ 3 หลังจากประธานรัฐสภาสั่งเลื่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯในวันที่ 27 ก.ค. นี้ออกไปก่อน ขณะที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลตามเอ็มโอยู ก็นัดประชุมไม่ได้จนทำให้การประชุมล่ม ล่าสุด 1 ใน 8 พรรค คือ พรรคพลังสังคมใหม่ ยื่นข้อเสนอให้รื้อข้อตกลง หรือ เอ็มโอยูเดิมของ 8 พรรคแล้ว

ล่าสุดช่วงเช้าวันที่ 26 ก.ค. 66 นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ กล่าวเสนอให้พรรคเพื่อไทย แก้ไขข้อตกลงร่วม หรือ MOU(เอ็มโอยู) ระหว่าง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า MOU ที่มีการลงนามครั้งแรก 23 ข้อนั้น สนับสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี 

ซึ่งนโยบาย 23 ข้อนั้น เป็นของพรรคก้าวไกล แต่เมื่อพรรคก้าวไกล ได้ส่งไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทยแล้ว ดังนั้น MOU ก็จะต้องให้พรรคเพื่อไทย เป็นผู้พิจารณาแก้ไขใหม่ ว่าจะเชิญพักการเมืองใดเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีกหรือไม่ เพื่อให้ผักร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาเกิน 375 เสียง

ส่วนการฉีก MOU นั้น จะกระทบความสัมพันธ์ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิมหรือไม่นั้น นายเชาวฤทธิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยว่า จะนำ MOU เก่ามาแก้ไข และให้พรรคก้าวไกล เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเช่นเดิม เพียงแต่ให้พรรคเพื่อไทย พิจารณาปรับแก้เนื้อหา เพราะเนื้อหาเดิมเป็นของพรรคก้าวไกลทั้งหมด ซึ่งหากมีการประชุม 8 พรรคร่วมฯ ตนก็จะนำเรื่องนี้เข้าไปประชุมหารือด้วย 

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่

ส่วนเสียงของ 8 พรรคร่วมฯ ขณะนี้ มี 312 เสียง อาจจะไม่พอสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ควรจะมีการดึงพรรคร่วมเพิ่มหรือไม่นั้น นายเชาวฤทธิ์ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทย เพราะทั้ง 8 พรรคร่วมฯ มอบหมายให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการประสานพรรคการเมืองอื่นแล้ว รวมถึงหาเสียงสนับสนุนจากสว.ด้วย ซึ่งจะมีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาร่วมด้วยหรือไม่นั้น ตนเองก็ไม่ติดใจ เพราะได้มอบหมายให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว 

นายเชาวฤทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตพรรคเพื่อไทย กำลังผลักพรรคก้าวไกลออกจากการเป็นพรรคร่วมว่า  ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะที่พรรคเพื่อไทยเชิญพรรคการเมืองต่างขั้วเข้ามาพูดคุย เพียงแค่เป็นการปรึกษาหารือทางออก และให้คำแนะนำถึงปัญหาข้อติดขัด ที่ 8 พรรคร่วมฯ จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร 

 

สรุปเนื้อหาฉบับย่อ MOU บันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 23 ข้อ ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล

  1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน
  2. สมรสเท่าเทียม โดยไม่บังคับผู้ที่เห็นว่าขัดแย้งกับศาสนา
  3. ปฏิรูประบบราชการ ทหาร ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม
  4. เปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ
  5. สันติภาพชายแดนใต้
  6. กระจายอำนาจ
  7. แก้ปัญหาทุจริต สร้างรัฐโปร่งใส
  8. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม
  9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน เช่น ตัด ลด พัก การขอใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น สร้างแต้มต่อให้ SME
  10. ยกเลิกผูกขาดและส่งเสริมแข่งขันการค้าที่เป็นธรรม เช่น สุราก้าวหน้า
  11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ
  12. ปรับปรุงโครงสร้างผลิตไฟฟ้า ลดค่าครองชีพ เพิ่มความมั่นคงพลังงาน
  13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ (Zero-based budgeting)
  14. สร้างระบบสวัสดิการประชาชนทุกช่วงวัย
  15. แก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเร่งด่วน
  16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ และมีกฎหมายควบคุมรับรองการใช้ประโยชน์จากกัญชา
  17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์
  18. แก้ไขกฎหมายประมง
  19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานเป็นธรรม ได้ค่าตอบแทนสอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
  20. ยกระดับระบบสาธารณสุข
  21. ปฏิรูประบบการศึกษา
  22. แก้ปัญหาฝุ่นพิษ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
  23. ดำเนินนโยบายต่างประเทศ ฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียนและเวทีต่าง ๆ รักษาสมดุลการเมืองระหว่างไทย กับประเทศมหาอำนาจ

 

นอกจากนี้ใน MOU 8 พรรค ยังระบุด้วยว่า ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วย 5 แนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  1. ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
  2. ทุกพรรคจะทํางานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะ ยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ ทันที
  3. ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือ ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
  4. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอ้านาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
  5. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง