สื่อนอกเกาะติดโหวตนายกฯรอบ2 หวั่นเกมยืดเยื้อ เปิดช่องรัฐบาลเสียงข้างน้อย

18 ก.ค. 2566 | 08:26 น.

การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯครั้งที่สองกำลังจะมีขึ้นพุธนี้ (19 ก.ค.) สื่อต่างชาติเกาะติดรายงานข่าวพันธมิตรก้าวไกลยืนยันสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯอีกครั้ง แต่หากคราวนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน อาจเปิดช่องการเปลี่ยนขั้วและการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พันธมิตรพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคที่นำโดย พรรคก้าวไกล ยังคงยืนยันวานนี้ (18 ก.ค.) ที่จะสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการประชุมลงคะแนนโหวตนายกฯในสภาครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (13 ก.ค.)

รอยเตอร์ รายงานการประกาศของนายพิธาที่ย้ำอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) เกี่ยวกับจุดยืนของกลุ่มพันธมิตรทั้ง 8 พรรค หลังการประชุมกับตัวแทนของบรรดาพรรคพันธมิตร โดยเขาประกาศว่า วุฒิสภาจะไม่สามารถปิดกั้นการเสนอชื่อของเขา เข้าสู่การลงคะแนนรับรองรอบที่ 2 ได้ และยังแสดงความมั่นใจด้วยว่า สถานภาพการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของเขานั้นไม่ได้ถูกกระทบโดยคดีที่เพิ่งมีการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย

อย่างไรก็ตาม นายพิธากล่าวว่า ถ้าหากเขาประสบความล้มเหลวในการลงคะแนนเสียงรอบสองที่กำลังจะมีขึ้นในวันพุธนี้ (19 ก.ค.) ก็จะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิด และมีคะแนนจากการเลือกตั้งเป็นอันดับสอง ให้เป็นแกนนำในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลแทน

นายพิธากล่าวว่า ถ้าหากเขาประสบความล้มเหลวในการโหวตนายกฯรอบสอง ก็จะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน

รอยเตอร์ระบุว่า คำยืนยันของหัวหน้าพรรคก้าวไกลนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่มีการพูดถึงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านว่า ก้าวไกลพร้อมจะถอยให้พรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากเป็นอันดับสอง รับไม้ต่อในการนำพรรคร่วมขึ้นบริหารประเทศ

ทางด้าน วีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ ได้ วิเคราะห์ 4 ฉากทัศน์การเมืองไทย เอาไว้ว่า การที่นายพิธาฝ่าด่านโหวตนายกฯ ไม่ได้ในรอบแรก เป็นการสะท้อนพลังต่อต้านที่รุนแรง และจากนี้ไปมี 4 ความเป็นไปได้ หรือ 4 ฉากทัศน์การเมืองที่น่าจับตามองในการโหวตครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นทั้ง “โอกาสสุดท้าย” ของก้าวไกล การเปลี่ยนขั้วการนำ ไปจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งทั้งหมดมีราคาที่ต้องจ่าย

ทั้งนี้ วีโอเอสะท้อนภาพการเมืองไทยผ่านมุมมองของนักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ที่ให้สัมภาษณ์วีโอเอ โดยสรุปบทเรียนของการโหวตนายกฯรอบแรก พร้อมแสดงมุมมองไปข้างหน้าถึงการโหวตนายกฯ รอบสองในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ซึ่งสามารถเรียบเรียงและสรุปออกมาเป็นความเป็นไปได้ 4 ข้อบนฐานความเป็นจริงทางการเมืองที่ “ประเมินยาก” ทั้งยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “วันนี้วิเคราะห์ มันก็วิเคราะห์ได้ แต่สุดท้ายมันเหมือนเกมเดาใจ”

ความล้มเหลวของนายพิธาในการโหวตรอบแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา (โดยเขาได้รับเสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสมาชิก 750 ที่นั่งในรัฐสภา) ทำให้ประเทศไทยยังคงไม่มีนายกฯ และรัฐบาลใหม่ แม้ผลการเลือกตั้งทั่วไป ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน และพรรคก้าวไกลก็สามารถรวบรวมเสียงได้ถึง 312 เสียงจาก 500 เสียงในสภาล่างแล้วก็ตาม

สำหรับบทเรียนจากการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกนั้น นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า การอภิปรายของเหล่าสมาชิกรัฐสภาทำให้เห็นว่าชัดว่า ถึงอย่างไร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก็ไม่โหวตให้นายพิธาด้วยเหตุผลสารพัด เช่น คุณสมบัติของหัวหน้าพรรคก้าวไกลจากเรื่องกรณีถือหุ้นสื่อ จุดยืนทางการเมืองในประเด็นต่าง ๆ ของพรรคก้าวไกล และที่ชัดเจนคือ เรื่องความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

“ข้ออ้างเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 มันเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นแหละ แต่จริง ๆ จุดประสงค์หลักเขาไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลมาตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ที่โหวตกันเป็นแค่การปฏิเสธคุณพิธาในฐานะแคนดิเดตของ 8 พรรคร่วม ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่จริง ๆ คือเขาไม่ต้องการให้ก้าวไกลเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเลย ซึ่งอันนี้ก็ต้องคอยพิสูจน์กัน” นายสติธรกล่าวกับวีโอเอ

อุปสรรครุมเร้า "พิธา" และพรรคก้าวไกล จะฟันฝ่าต่อได้อีกนานแค่ไหน

ส่วนการโหวตรอบที่สอง นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ให้มุมมองเป็น 4 ฉากทัศน์ ดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1: โอกาสสุดท้ายของพิธา

หากไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน พรรคก้าวไกลน่าจะมีการคุยกับพรรคเพื่อไทย และขอให้นายพิธาได้ถูกเสนอชื่อเป็นครั้งที่ 2 แต่คงต้องมีการวางเงื่อนไขว่าจะมีจุดสิ้นสุดหรือไม่ว่า จะเสนอนายพิธาอีกกี่ครั้งก่อนที่จะลองเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากฝั่งเพื่อไทยบ้าง ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดตั้งรัฐบาลโดย 8 พรรคร่วม หากพิจารณากันบนเงื่อนไขเดิม การเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้งอาจจะเจอแรงต้านมากกว่าเดิม เสียงที่งดออกเสียงอาจเปลี่ยนเป็นการไม่เห็นชอบ หรือไม่ก็เกิดการตีรวนจนทำให้ต้องเลื่อนการโหวตไปก่อน เช่น ไม่เข้าประชุม หรือส่งกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ฉากทัศน์ 2: การโหวตที่ยาวนาน และการถอนตัวของก้าวไกล

สังเกตจากคำอภิปรายของทาง สว.ในรอบแรก นายสติธรวิเคราะห์แนวโน้มว่า แม้ภายใน 8 พรรคร่วม จะเปลี่ยนการนำจากพรรคก้าวไกล มาเป็นพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะไม่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงในแง่คะแนนเสียงมากนัก หากเป็นเช่นนั้น เท่ากับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยก็อาจจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ความเป็นไปได้นี้อาจนำไปสู่การโหวตนายกฯ ที่ยืดเยื้อ ก่อนที่แกนนำ 8 พรรคร่วม จะกลับมานั่งทบทวนความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

“คือจะรอให้ครบก็ได้นะ ซึ่งมันก็จะทำให้ยืดเยื้อออกไปอีก เช่น มันเป็นเรื่องตัวบุคคลหรือเปล่า อยากพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ครั้งที่สามซึ่งเป็นคิวแรกของเพื่อไทย อาจไปที่คุณเศรษฐา (เศรษฐา ทวีสิน) ครั้งที่สี่เป็นคุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) ครั้งที่ห้าเป็นคุณชัยเกษม (ชัยเกษม นิติสิริ) จนถึงจุดนี้ เพื่อไทยก็บอกกับก้าวไกลว่ามันหมดแล้วแหละ เขาไม่ใช่แค่ไม่เอาแคนดิเดตของพวกเราหรอก คือเขาไม่เอาพรรคก้าวไกลร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เราจะยังยอมไปพึ่งพาเพียงเสียงของ สว. อยู่หรือ เราไม่ลองมาชวนเพื่อน ส.ส. อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเขาก็อาจมีความกังวลเรื่อง 112 หรือก้าวไกลบ้าง”

หากมาถึงจุดนี้ พรรคก้าวไกลที่ประกาศจุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่ครั้งหาเสียงว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และมีเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย จะต้องตัดสินใจว่า จะทำอย่างไรต่อ

“ก็กลายเป็นเกมที่ก้าวไกลอาจจะต้องเลือกว่า จะอยู่กับเพื่อไทยแล้วลุยต่อ แล้วมี 312 เสียงไปเรื่อยๆ หรือจะยอมให้เพื่อไทยเติม ส.ส. พรรคอื่นเข้ามา แล้วตัวเองต้องถอยฉากออกไป จุดนี้แหละคือจุดที่มันเกิดการเปลี่ยนขั้วได้ คือจุดที่ก้าวไกลต้องยอมถอยออกจากการเป็นแกนนำของพรรคร่วม 8 พรรค แล้วก็ปล่อยให้ 7 พรรคที่เหลือเขาเดินต่อไปกับเพื่อไทย ซึ่งเพื่อไทยก็มีหน้าที่ต้องไปเติมเสียงจากฝั่ง ส.ส. พรรคอื่นเข้ามา”

สุดท้ายเขาอาจถูกผลักเข้าสู่เกมที่ต้องเลือกว่า จะอยู่กับเพื่อไทยแล้วลุยต่อ แล้วมี 312 เสียงไปเรื่อยๆ หรือจะยอมให้เพื่อไทยเติม ส.ส. พรรคอื่นเข้ามา

ฉากทัศน์ที่ 3: ก้าวไกลถอยแก้ ม.112

กระแสการอภิปรายในวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรงในประเด็นการแก้ไข ม.112 ที่พรรคก้าวไกลประกาศว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาพูดคุยในสภา ความแหลมคมของประเด็นนี้ดูจะมีผลต่อความเป็นไปได้ทางการเมืองใหม่ๆ เมื่อชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต จ.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า หากก้าวไกลไม่ยุ่งกับ ม.112 พรรคภูมิใจไทย จะยกมือให้ และไม่ร่วมรัฐบาลด้วย

ในความเป็นไปได้นี้ นักวิชาการมองว่า การที่พรรคก้าวไกลจะประกาศหยุดพูดเรื่องการแก้ ม.112 คงไม่เกิดขึ้น เพราะทางพรรคเคยกล่าวไว้ตอนที่ถอยเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า หากไม่เสียหลักการก็ถอยได้ แต่เรื่อง ม.112 เป็นเรื่องของหลักการ และไม่ได้อยู่ในข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) 8 พรรคด้วย

“แต่ทาง สว. เราก็เห็นจากคำอภิปรายวันที่ 13 ว่าเขาไม่เชื่อ หลายท่านถึงกับพูดดักทางด้วยซ้ำว่า ต่อให้วันนี้ก้าวไกลยืนยันอย่างชัดเจนเสียงแข็งเลยนะว่าจะหยุดเรื่องของการที่จะผลักดันที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ว่าทางใดก็ตาม เขาก็บอกว่าเขาไม่เชื่อหรอก เพราะวันหนึ่งเคยพูดไว้แบบหนึ่ง แล้วอยู่ๆ วันนี้มาพูดว่าหยุด เพื่อจะให้ได้ตำแหน่งนายกฯ ต่อไปวันข้างหน้าได้เป็นนายกฯ ก็อาจจะเปลี่ยนใจอีก กลับคำอีก”

ฉากทัศน์ที่ 4: รัฐบาลเสียงข้างน้อยและดงงูเห่า

อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่มีการวิเคราะห์ คือ สมมติฐานที่พรรคอื่น ๆ นอกเหนือจากกลุ่ม 8 พรรคร่วมที่มีอยู่ 188 คน จะเสนอชื่อนายกฯ แข่ง และใช้เสียงสนับสนุนของ สว. 250 เสียง โหวตให้ผ่านเกณฑ์แล้วจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ความเป็นไปได้นี้ถูกคาดคะเนหลังผลการเลือกตั้ง และถูกพูดถึงโดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ที่รัฐบาลเสียงข้างน้อยถูกตั้งขึ้นแล้วค่อยๆ ดูดเสียงผู้แทนฯ มาจนกลายเป็นเสียงข้างมาก (ซึ่งต่อมาวิษณุชี้แจงว่า ไม่ได้ชี้นำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย)

การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ยังเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ เพราะในหมู่ฐานเสียงของ 8 พรรคร่วมก็มีระดับความอดทนอดกลั้นต่อแรงกดดันจากการโหวตนายกฯ ไม่เหมือนกัน โดยมีทั้งคนที่รอได้และรอไม่ได้ หากฝ่ายตรงข้ามประเมินท่าทีของฐานเสียง 8 พรรคร่วม แล้วประเมินว่า มีคนที่รอการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าคนที่รอไม่ได้ ก็อาจจะชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้น

ผอ. สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวกับวีโอเอว่า แม้โครงสร้างทางการบริหารราชการแผ่นดินของไทยจะทำให้รัฐบาลรักษาการสามารถทำหน้าที่ประจำได้อยู่ และสามารถใช้งบประมาณปี 2566 ในปีงบประมาณ 2567 ได้ แต่การประคับประคองประเทศของรัฐบาลรักษาการท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชนนั้น หากมีความยืดเยื้อและความไม่พอใจขยายวง ก็ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองด้วย ซึ่งเหล่านี้เป็นราคาที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น กับการที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ไทยจะได้นายกฯ คนใหม่เมื่อไหร่ จะตั้งรัฐบาลใหม่ได้วันไหน

ที่มา รอยเตอร์ / วีโอเอ